- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Friday, 05 June 2015 09:13
- Hits: 5349
ม.หอการค้าไทย คงเป้า จีดีพีปีนี้ที่ 3-3.5% ลุ้น กนง.ลดดบ.ลงอีกเพื่อกระตุ้น ศก.หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.อยู่ที่ 76.6ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน
ม.หอการค้าไทย คงเป้า จีดีพีปีนี้ที่ 3-3.5% มอง กนง. ยังมีช่องว่าง ลดดบ. ลงได้อีกระบุ การลด ดบ.ทุก 0.25% ช่วยกระตุ้น ศก.ได้ 0.05-0.1%หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.อยู่ที่ 76.6ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน พร้อมระบุ ไทยเสี่ยงเกิดภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง มองQ2/58 การบริโภคประชาชนยังฟื้นไม่มาก เหตุกังวลต่อการฟื้นตัวของ ศก.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยฯยังคงเป้าหมายการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้ที่ระดับ 3-3.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ จะผลดีต่อภาคการส่งออกด้วย
ส่วนกรณีที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงทาต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลดีต่อภาคการส่งออกด้วย และยังมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน ยังเชื่อว่า กนง.ยังคงมีพื้นที่ที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก โดยมองว่าทุกการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ 0.05-0.1%
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. อยู่ที่ 76.6 จาก 77.7 ใน มี.ค. ซึ่ง เป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯที่ลดลง ในเม.ย. เนื่องจากผู้บริโภคกังวลต่อการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ราคาข้าวและยางอยู่ในระดับต่ำและภัยแล้งกระทบภาคการเกษตร รวมถึงภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าในเดือนที่แล้ว
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค หลังจากอัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้น เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนเริ่มกลับมาขยายตัวได้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 เดือน
"นอกจากนี้ ยังสะท้อนจาก ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา โดยในเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 69.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2558 " นายธนวรรธน์กล่าว
ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ประเมินว่า การบริโภคภาคประชาชนยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพารายังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะฟื้นตัวเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย