- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Friday, 06 March 2015 22:47
- Hits: 3957
ไตรมาสแรก เม็ดเงินหายแสนล้าน-ประชาชนเริ่มกังวลประเด็นการเมือง
แนวหน้า : ไตรมาสแรกเม็ดเงินหายแสนล้าน ประชาชนเริ่มกังวลประเด็นการเมือง อัดรัฐเทเงินเข้าระบบต่ำเป้า
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้า เล็งหั่นเป้า จีดีพี ปี’58 เหตุรัฐอัดเงินเข้าระบบช้า ซ้ำส่งออกยังไม่ขยายตัว รวม 2 ปัจจัย ทำให้ไตรมาสแรก เม็ดเงินหายไปจากระบบ แสนล้านบาท ซ้ำการบริโภค เหตุรายได้เกษตรตกต่ำ ทำให้เอกชนยังไม่กล้าลงทุน เหลือแค่การท่องเที่ยวที่ขยาย แต่ช่วยอะไรไม่ได้มาก
นางสาวเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 69.7 ในเดือนที่ผ่านมา จากราคาขายปลีกน้ำมันที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกลดลง และราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวระดับต่ำ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมยังมีโอกาสลดลงต่อเนื่อง เพราะเดือนกุมภาพันธ์ปรับลดลงจากราคาน้ำมันเริ่มปรับขึ้นทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศ และสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรยังต่ำ ขณะที่การประมูลโครงการต่างๆ ยังล่าช้า ผู้ประมูลไม่สนใจงานวงเงินไม่สูง ส่งผลให้งบประมาณที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายในส่วนนี้ไม่อาจชดเชยการไม่ปลูกข้าวนาปรังและสถานการณ์ยังคงอยู่ต่อไปอีก 1-2 เดือน การส่งออก การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับคนเริ่มกังวลสถานการณ์การเมือง อย่างไรก็ตาม หวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโบาย ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจะช่วยการส่งออกให้ดีขึ้นได้
นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ศูนย์มีแนวโน้มที่จะปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย จากเดิมทั้งปีคาดว่าจะโต 3.5-4% โดยจะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหลือเพียง 3-3.5% ส่วนการส่งออกทั้งปีจะปรับลดจากเดิมที่ประเมินว่าขยายตัว 3-4% จะปรับลดลงเหลือ 1-2% เนื่องจากไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยภาพรวมจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3-3.5% แต่แนวโน้มสถานการณ์จริงอาจจะขยายตัวเพียง 2.5% เท่านั้น
ทั้งนี้ การส่งออก ไตรมาสแรกจากที่ควรจะขยายตัวได้ 2-3% แต่สถานการณ์จริงอัตราการขยายตัวกลับติดลบ 2% ทำให้รายได้ส่งออกหายไป 30,000 – 50,000 ล้านบาท ขณะที่เงินบาทจากกว่า 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านการบริโภคปกติยังไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ตรุษจีน และวันมาฆบูชาชะลอตัวลง โดยประมาณแล้วคาดว่า การใช้จ่ายหายไปอีก 50,000 ล้านบาท รวมแล้วเม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจถึง 100,000 ล้านบาท ขณะที่เงินเฟ้อจากเดิมคาดว่าจะอยู่ระดับ 1-1.8% แต่สถานการณ์จริงอยู่ที่ 0.5-1.3% สะท้อนถึงการบริโภคไม่อาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้รอการขับเคลื่อนเม็ดเงินงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งเดิมคาดว่าปลายปี 2557 จะมีการจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์จริงการใช้จ่ายงบประมาณรับกลับทำได้ล่าช้า ทั้งที่จริงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ภาพโดยรวมควรมีการอัดฉีดเงินจากการเข้ามาหมุนเวียนเข้าในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 50,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย แต่กลับเป็นว่าเม็ดเงินดังกล่าวยังไม่เข้ามา
“สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตอนนี้ คือ ภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐที่จะต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้ามา และหากค่าเงินอยู่ในช่วง 32.5- 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะช่วยภาคการส่งออกของไทยให้ค่อยฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตามขึ้นมาได้ บวกกับการอัดฉีดเงินจากภาครัฐ และ การท่องเที่ยว ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาส 2” นายธนวรรธน์กล่าว
ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยยังคงไม่แข็งแกร่งมาก แต่ยังไม่เผชิญกับภาวะเงินฝืด แม้อัตราเงินเฟ้อจะออกมาติดลบถึง 2 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้เป็นห่วงการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่มีความล่าช้า ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเห็นว่าแม้จะมีแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าการประชุมกนง.ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ประมาณ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงนี้สาเหตุมาจากการส่งสัญญาณ ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่าง 0 - 0.25% นานขึ้น อย่างไรก็ตาม เฟดอาจจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ส่งผลให้ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่าอีกครั้ง
ดัชนี เชื่อมั่น ก.พ.อาการโคม่าหอการค้าฯ เล็งปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.5%
บ้านเมือง : ดัชนี เชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.ติดลบติดต่อกัน 2 เดือน เหตุปัจจัยลบรุมกระหน่ำ ทั้งเศรษฐกิจไม่โต น้ำมันขึ้นกระฉูด ส่งออกวูบ สินค้าเกษตรราคาตก บาทแข็ง ค่าครองชีพพุ่ง คาดน้ำมันจะเป็นแรงกดดัน ทำให้คนชะลอการใช้จ่าย แนะรัฐอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หอการค้าฯ เล็งปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือโต 3-3.5% หนุน กนง.ลดดอกเบี้ย พณ.เดินหน้าดูแลค่าครองชีพ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน ก.พ.58 ปรับตัวลดลงทุกรายการ และติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 79.1 ลดจาก 80.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 59.8 ลดจาก 60.7 และดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 86.4 ลดจาก 87.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.4 ลดจาก 69.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 73.0 ลดจาก 74.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.8 ลดจาก 87.4
ปัจจัยลบที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง มาจากการปรับปรับเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 58 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เหลือ 3.5-4.3% ราคาน้ำมันเบนซินในเดือน ก.พ.ปรับเพิ่มขึ้น 2.80 บาทต่อลิตร และดีเซล 2.30 บาทต่อลิตร การส่งออกเดือน ม.ค.ลดลง 3.46% ราคาพืชผลเกษตรยังตกต่ำ ทั้งข้าวและยางพารา เงินบาทแข็งค่าขึ้น และผู้บริโภคยังกังวลในเรื่องค่าครองชีพสูงและความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยบวกก็มีบ้างแต่ไม่มาก เช่น SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ขยายตัว 2.3%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เตรียมจะปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ใหม่ช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเหลือ 3-3.5% จากเดิม 3.5-4% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกจะปรับลดลงเหลือ 1-2% จากเดิม 3-4% และเงินเฟ้อ ปรับลดลงเหลือ 0.5-1.3% จากเดิม 1-1.8% เนื่องจากมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น และการบริโภคยังไม่ได้เป็นแรงขับในการเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร อีกทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐยังไม่ลงไปสู่ระบบได้อย่างที่คาดการณ์ไว้
ยังสนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันที่ 11 มี.ค.นี้ พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง และเป็นการช่วยให้ต้นทุนของผู้ประกอบการถูกลงในขณะที่รายได้ยังไม่ได้เข้ามามากนัก ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการพบปะนักธุรกิจยุโรปครั้งนี้ได้หารือถึงผลการดำเนินการที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังเดินหน้าปฏิรูปงานเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยจัดเก็บสูงและดำเนินการปรับโครงสร้างเพื่อลดอัตราภาษี จนปัจจุบันอัตราการจัดเก็บภาษีของไทยอยู่ในระดับเกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรและสรรพสามิต เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและคล่องตัวมากที่สุด
โดยยังมีการปรับโครงสร้างด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศครั้งใหญ่ด้านคมนาคม ไม่ว่าการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีกหลายเส้นทาง รถไฟรางมาตรฐานหรือ 1.435 เมตร เชื่อมต่อการขนส่งสินค้า การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 รวมถึงโครงการที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการลงทุน โดยนักธุรกิจจากยุโรปพอใจภาพรวมการปฏิรูปงานภาษีและโครงสร้างพื้นฐานของไทย
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้ค้าหลักรายใหญ่ของโลกซบเซา ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น หลายประเทศได้ประกาศลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ร่วมกับห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดสมัยใหม่ และร้านค้าโชห่วย ร่วมจัดโครงการเทใจคืนสุขสู่ประชาชน และธงฟ้าราคาประหยัด เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน จัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด 20-40%
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับรูปแบบโครงการธงฟ้าเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดทำโครงการธงฟ้าชุมชน หรือโมบายยูนิต กระจายไปยังชุมชนต่างๆ 50 จุดต่อวัน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.จนถึงปัจจุบัน มียอดจำหน่ายผ่านโครงการแล้วกว่า 80 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะมียอดจำหน่ายผ่านโครงการนี้จำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน 30 ล้านบาท
ไม่เชื่อมั่น!ดัชนีร่วงทั้งแผง น้ำมันขึ้น-เบิกจ่ายงบสุดอืดลงทุนแป้ก!ต่างชาติเริ่มหนี
ไทยโพสต์ * ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.ทรุดยกแผงเป็นเดือนที่ 2 ชี้ส่อร่วงต่อ เหตุน้ำมันเริ่มขึ้น เศรษฐกิจยังซึม ส่งออกไม่ฟื้น รัฐเบิกจ่ายงบสุดอืด หอการค้าฯ เตรียมหั่นจีดีพีลงอีก 0.5% คาดทั้งปีโตแค่ 3-3.5% หุ้นแดงเถือก ลบ 9 จุด ตั้งแต่ต้นปีต่างชาติทิ้ง 9 พันล้านบาท เซ็งลงทุนภาครัฐไม่คืบ
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย เปิดเผยว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.2558 พบว่าปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเดือน ม.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐโดยรวมเท่ากับ 68.4 ลดจาก 69.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 73 ลดลงจาก 74.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 95.8 ลดจาก 97.4 ในเดือน ม.ค.
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐ กิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอ การค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และมีโอกาสตกลงต่อเนื่องอีก เพราะราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะพยายามลงทุนผ่านโครงการขนาดเล็กในชนบทมูลค่า 40,000 ล้านบาท แต่พบว่าไม่มีเอกชนสน ใจร่วมประมูล ทำให้เม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่นล่าช้า คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปเช่นนี้อีก 1-2 เดือน
จากปัจจัยต่างๆ ทำให้ศูนย์ฯ มีแผนจะปรับประมาณการตัว เลขเศรษฐกิจใหม่ช่วงเดือน เม.ย. นี้ เบื้องต้นจะปรับลดจีพีดีลงเหลือ 3-3.5% จากเดิม 3.5-4% ส่งออกเหลือโต 1-2% จากเดิม 3-4% เงินเฟ้อเหลือ 0.5-1.3% จากเดิม 1-1.8% โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 1 จะขยายตัวได้ 2.5% ลดลงจากเดิมที่ 3-3.5% หรือลดลง 0.5-1% จากการเบิกจ่ายงบของภาครัฐล่าช้า และการส่งออกที่ชะลอตัว
สำหรับ แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การเร่งใช้จ่ายเงินภาครัฐ ที่พบว่า ยังมีเงินค้างท่อจากงบไทยเข้มแข็ง 3.6 แสนล้านบาท และเม็ดเงินลงทุนโครง การต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มดีขึ้น หลังญี่ปุ่นและยุโรปมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีนักท่องเที่ยวกลับมาไทย และการลดอัตราดอก เบี้ยลงประมาณ 0.25%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นไทยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ดัชนีเคลื่อน ไหวในแดนลบตลอดวัน โดยปรับตัวลดลงเนื่องจากแรงขายทำกำไรลดความเสี่ยงหุ้นแพงแบบคละกลุ่ม ประกอบกับภาพรวมตลาดไร้ปัจจัยใหม่กระตุ้น กดดันดัชนีลดลงต่ำสุด 17.74 จุด แต่ช่วงบ่ายมีแรงซื้อกลับเข้ามา ดันดัชนีมาปิดที่ 1,553.33 จุด ลดลง 9.51 จุด มูลค่าซื้อขาย 67,024.41 ล้านบาท
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรม การผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 9,000 ล้านบาท และดัชนีหุ้นไทยปรับลงจาก 1,620 มาอยู่ที่ 1,560 จุด มีสาเหตุหลักจากการลงทุนภาครัฐไม่ชัดเจน การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 จนเกือบสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2558 ล่าช้า ไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง
ทั้งนี้ ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2558 หากรัฐยังไม่เดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ อย่างชัด เจน ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะบริษัทจดทะเบียนไทยหลายกลุ่มไม่สามารถประ เมินและรับรู้รายได้ ที่มาจากผลบวกของการลงทุนของภาครัฐได้ทันในปี 2558.
ม.หอการค้าฯ เล็งลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 3-3.5%,หนุน กนง.ลดดอกเบี้ย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ช่วงเดือน เม.ย.58 เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเหลือเติบโตราว 3-3.5% จากเดิมคาดไว้ 3.5-4% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะลดลงเหลือขยายตัว 1-2% จากเดิม 3-4% และเงินเฟ้อลดลงเหลือ 0.5-1.3% จากเดิม 1-1.8% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่น และการบริโภคยังไม่ได้เป็นแรงขับในการเคลื่อนเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร อีกทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนของภาครัฐลงไปสู่ระบบได้อย่างล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ม.หอการค้า สนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ที่จะมีการประชุมวันที่ 11 มี.ค.นี้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
นายธนวรรธน์ คาดว่าปลายไตรมาส 2/58 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเริ่มฟื้นตัว ภายใต้ปัจจัยที่รัฐบาลสามารถอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการลงทุนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. และหวังว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทั้งหมดนี้หากสามารถดำเนินการได้จะเป็นตัวช่วยกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้น การบริโภคจะยิ่งซึมตัวลง ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ คือ 1.การท่องเที่ยว 2.การลงทุนของภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และ 3.หากการส่งออกเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่อยู่ในกรอบ 32.50-33.00 บาท/ดอลลาร์ ก็น่าจะมีอานิสงส์ต่อภาคการส่งออกให้เริ่มฟื้นในปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นตามสถานการณ์ดังกล่าว
นายธนวรรธ์ กล่าวว่า การเตรียมปรับลด GDP ในปี 58 ลงนั้นประเมินจากเหตุผลที่เดิมมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ควรจะโตได้ 3-3.5% แต่ล่าสุดมีโอกาสมากที่เศรษฐกิจจะเติบโตลดลงมาเหลือ 2.5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% แต่หากการเร่งเบิกจ่ายทำได้ไม่ดีและการส่งออกยังไม่กระเตื้อง ก็มีโอกาสที่ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3-3.5%
“นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามองว่าภาพของเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวต่ำลง เหตุผลสำคัญคือเรารอการขับเคลื่อนเม็ดเงินของภาครัฐ ซึ่งเดิมเราคาดว่ารัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าในเดือนมี.ค.นี้ การอัดฉีดเม็ดเงินยังล่าช้ามาก นอกจากนี้การส่งออกในไตรมาสแรกที่น่าจะโตได้ 2-3% อาจจะกลายเป็นติดลบ 2% ซึ่งทำให้รายได้จากส่วนนี้หดหายไปอีก 3-5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 33 บาทปลายๆ มาอยู่ที่ 32.50 บาท รวมทั้งในเรื่องของการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว" นายธนวรรธน์ ระบุ
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในการลดภาษีต่างๆ คงไม่สามารถจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงนี้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต้องไม่ทำให้มาตรการภาษีที่จะออกมากลายเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งรัฐบาลต้องให้มุมมองที่ชัดเจนว่าการบังคับใช้ยังไม่ใช่ในช่วงเร็วๆนี้ แต่อาจจะมีผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเพดานภาษีควรปรับลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากเกินไป ซึ่งข้อมูลที่จะเป็นผลต่อจิตวิทยาในเชิงบวกนี้รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่ประชาชนมากที่สุด
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้คือชะลอการปรับขึ้นราคาพลังงานไว้ เช่น ก๊าซ NGV และก๊าซ LPG จนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นขึ้น หรือเริ่มมีเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายในโครงการของรัฐลงสู่ระบบได้มากในระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยดำเนินการปรับขึ้นราคา
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศนั้น มองว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ควรติดลบเกิน 5 เดือน ซึ่งตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปอัตราเงินเฟ้อควรกลับมาเป็นบวกในช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มปรับสู่ขาขึ้น พร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นจากภาครัฐ และหากทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างก็จะช่วยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวได้ดี
“การที่ราคาน้ำมันเริ่มไต่ขึ้น เงินเฟ้อไม่ควรติดลบเกิน 5 หรือ แต่หากจะเป็นเดือนที่ 6 แม้จะเข้าสู่สัญญาณของเงินฝืดเล็กๆ แต่ว่าไม่ควรทะลุเกินเดือนที่ 7 หรือ 8 เพราะฉะนั้นภาวะเงินฝืดทางเทคนิคในประเทศไทยไม่ควรเกิด ควรจะจบลงที่ 4-5 เดือน ซึ่งเงินเฟ้อเดือนพ.ค.หรือมิ.ย.ควรกลับมาเป็นบวกจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น และระบบเศรษฐกิจเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งน่ากังวลมากกว่า คือเงินเฟ้อต่ำในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ และอำนาจซื้อของประชาชนที่หายไป อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะเริ่มฟื้นขึ้นอย่างแน่นอน แต่ในช่วงรอยต่อของไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่สินค้าเกษตรยังมีราคาทรงตัวในระดับต่ำนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งให้เศรษฐกิจเงยหัวขึ้นให้ได้ เพื่อทำให้ภาพเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังโตได้อย่างโดดเด่นขึ้น
อินโฟเควสท์