WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ดัชนี เชื่อมั่นผู้บริโภคมกราคมลดลงอีก-กังวลศก.ฟื้นไม่จริง

   แนวหน้า : ดัชนี เชื่อมั่นผู้บริโภคมกราคมลดลงอีก-กังวลศก.ฟื้นไม่จริง ประชาชนยังไม่กล้าใช้เงิน

     หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนม.ค. 2558 อยู่ที่ 80.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เหตุประชาชนยังไม่กล้าจับจ่าย เพราะยังกังวลเรื่องฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ แนะรัฐต้องเร่งอัดฉีดเงินลงระบบให้เร็วกว่านี้

     นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมกราคม 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 80.4 ปรับตัวลดลงจาก 81.1 ในเดือน ธ.ค. 2557 เล็กน้อย เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายอย่างที่ส่งผลต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง ราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อการใช่จ่ายของประชาชน ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคตก็ปรับลดลงเช่นกัน อยู่ที่ 60.7 จาก 61.2 และอยู่ที่ 87.9 จาก 88.7 ตามลำดับ

     “บรรยากาศเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. 2557 และเดือน ม.ค. 2558 ก็มีความใกล้เคียงกันมาก เพราะมันยังคงนิ่งๆ และมันก็สะท้อนออกมาเป็นความรู้สึกของประชาชน ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า คนไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่น อีกทั้งกำลังซื้อในต่างจังหวัดก็ค่อนข้างชะลอตัว จากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

    ทั้งนี้ ยังมองว่า ในระยะนี้การบริโภคของประชาชนอาจฟื้นตัวได้ไม่มาก แม้ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับต่ำ แต่ในอีกไม่นานการบริโภคของประชาชนน่าเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่หากต้องการให้การบริโภคของประชาชนดีขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ให้มีการจ้างงาน การกระตุ้นให้คนอยากใช้จ่าย ซึ่งในปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่การส่งออกการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน

    อย่างไรก็ตาม ก็คาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะปรับตัวดีขึ้น และคึกคักได้อีกครั้งในช่วงก.พ.-มี.ค. เนื่องจากจะเป็นช่วงที่มีเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลวันวาเลนไทน์ ซึ่งกำลังซื้อของผู้บริโภคจะเป็นตัววัดว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้นได้มาแค่ไหน และแน่นอนว่าหากการท่องเที่ยวฟื้นตัวจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดัน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้นอีก และแน่นอนว่ารัฐบาลต้องมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย

    สำหรับ การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3-3.5% เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศเริ่มปรับตัว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศตนเอง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไม่น่าจะล้ม และเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ทรุด เศรษฐกิจไทยก็น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% แต่ก็ต้องยอมรับว่าในส่วนของการส่งออกอาจขยายตัวได้ไม่ตรงตามเป้าที่เคยตั้งไว้ และอาจจะขยายตัวได้ที่ 1-2% ซึ่งในเร็วๆ นี้ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ก็คาดว่าอาจจะต้องปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกใหม่

   นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ และประชาชน กรณีเหตุระเบิดทางเชื่อมรถไฟฟ้า หน้าสยามพารากอน โดยพบว่า ประชาชนมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศ และเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ได้กระทบต่อธุรกิจ นักท่องเที่ยว ในบริเวณนั้นบ้าง แต่ไม่มาก และก็เชื่อว่าจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งจะไม่บั่นทอนเศรษฐกิจไทยระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องการให้รัฐบาล ดูแลเรื่องความปลอดภัยให้เข้มงวด และรวดเร็วขึ้น รวมถึงต้องเร่งหาตัวกลางที่วางระเบิดมาลงโทษ และหาสาเหตุการวางระเบิดโดยเร็ว

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ยังเปราะบางสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการเบิกจ่ายของรัฐบาล แม้สัญญาณการฟื้นตัวจะมีมากขึ้นก็ตาม ขณะที่การส่งออก แม้ปีที่ผ่านมาจะปิดเป็นบวกที่ร้อยละ 1.9 แต่ปีนี้อาจไม่สดใส โดยจะต้องจับตาเศรษฐกิจโลก เพราะทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ต่างออกมาฟันธงว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่แข็งแกร่งขึ้น แต่ในที่สุดยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดในเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่อาจกลับมาอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้ รวมทั้งต้องจับตาการเมืองสหรัฐที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง และฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก ภาคเอกชนค่อยๆ ฟื้นตัวจากต้นทุนราคาน้ำมัน โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น นักธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ การประมูลโทรศัพท์มือถือระบบ 4G การขยายการลงทุนของค้าส่งค้าปลีกในต่างจังหวัด ภาคก่อสร้างขยายการลงทุนตามการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง ในด้านสถานการณ์การส่งออกในปีนี้จะดีขึ้นจากปีก่อน และต้องเน้นการส่งออกไปยังประเทศแถบชายแดน CLMV เพราะมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 9 แทบจะทดแทนการส่งออกไปยังยุโรปได้มีสัดส่วนร้อยละ 10

สินค้าเกษตรตกต่ำฉุดดัชนีเชื่อมั่นวูบ ระเบิดกระทบช่วงสั้นแต่อย่าตูมซ้ำ

   ไทยโพสต์ : ราชบพิธ * สินค้าเกษตรตกต่ำ บั่นทอนกำลังซื้อฉุดดัชนีเชื่อมั่นเดือน ม.ค.ลดลงอีกรอบ จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินกระตุ้น ชี้ระเบิดที่พารากอนกระทบช่วงสั้น หากไม่เกิดซ้ำ

   นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำ รวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.2558 จากกลุ่มตัว อย่าง 2,239 คน อยู่ที่ 80.4 ปรับตัวลดลงจาก 81.1 ในเดือน ธ.ค.2557 และเป็นการปรับลดลงในทุกรายการอีกครั้ง หลังเริ่มขยับขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวและไม่น่าไว้วางใจ

  โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 69.7 ลดจาก 70.5 ดัชนี ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 74.1 ลดลงจาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.4 ลดลงจาก 98.3 เดือน ธ.ค.2557

    "ถือว่า เป็นสัญญาณที่แปลก เพราะจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยบวกกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง น่าจะมีแรงเหวี่ยงให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ผลสำรวจที่ ตอบกลับมากลับดูไม่ฟื้น หรือฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อต่าง จังหวัดไม่ดีจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ แต่เชื่อว่ารัฐบาล เองคงเห็นภาพนี้แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการจ้างงานต่างๆ โดยเร็ว" นายธนวรรธน์กล่าว

    นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ได้สำรวจทัศนะและพฤติกรรมของผู้ ประกอบการย่านสยาม ราชประสงค์ สีลม สุขุมวิท และสาทร จำ นวน 400 ราย ต่อเหตุการณ์ระเบิดบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าหน้าสยามพารากอน พบว่าผู้ประ กอบการส่วนใหญ่ 94.1% คาด ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผล กระทบต่อธุรกิจ รายได้และต้นทุนการรักษาความปลอดภัยของธุรกิจในระดับปานกลาง และไม่ มีผลบั่นทอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะน่าจะมีผลกระทบ เพียงระยะสั้นๆ 1-2 เดือน หากไม่มีเหตุการณ์เกิดซ้ำอีกในช่วงนี้.

การบริโภคหดตัว ศก.ไม่ฟื้น ธปท.เตือนภาวะการเงินไม่นิ่งต้องเน้นบริหารความเสี่ยง

   บ้านเมือง : ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค.58 ปรับลดลงเพราะเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นอย่างที่หวัง ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ขณะนี้รัฐบาลยอมรับสั่งกระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาสินค้า ผลักดันเรื่องการส่งออกให้เป็นวาระแห่งชาติ และเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยว ขณะที่แบงก์ชาติย้ำจะดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ใช้นโยบายผ่อนปรน และให้ธุรกิจใช้นโยบายป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน

    นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค.58 อยู่ที่ 80.4 จาก 81.1 ในเดือน ธ.ค.57 โดยเป็นการปรับตัวลดลงเนื่องจากสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และความกังวลกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจไทย การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.58 ปรับตัวลดลงทุกรายการ ในขณะที่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี การจับจ่ายใช้สอยกลับมาคึกคัก ซึ่งเป็นเพราะประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำเริ่มส่งผลบั่นทอนสถานการณ์ ขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาคึกคักเท่าที่ควร ประกอบกับทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังต่างปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ลงจากเดิม ซึ่งทำให้เป็นข้อมูลข่าวสารในเชิงลบที่เข้ามา

  แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะมีส่วนช่วยในการพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง จากการที่ทำให้ต้นทุนประกอบการปรับลดลง แต่ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่ราคาก๊าซ NGV และก๊าซ LPG จะปรับขึ้นราคาได้อีก รวมทั้งความเห็นที่ยังแตกต่างกันเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระหว่างรัฐบาลกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งอาจทำให้เห็นว่าการเมืองอาจจะเริ่มไม่นิ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการเมืองในเดือน ม.ค.นี้ จึงเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

    "ถือว่า เป็นสถานการณ์ที่แปลก เพราะเมื่อตอนปีใหม่ดัชนีความเชื่อมั่นยังคึกคัก การใช้สอยกลับมา แต่พอมาเดือนนี้ (ม.ค.) คนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ฟื้นหรือฟื้นช้า คำสั่งซื้อจากต่างจังหวัดหายไป เพราะราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำได้เริ่มบั่นทอนสถานการณ์ เศรษฐกิจยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า และไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจริงหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว

    ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังไม่ฟื้นตัวมากนักในระยะนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินของทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกและการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน

   นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ลงไปดูแลในเรื่องราคาสินค้า การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การผลักดันเรื่องการส่งออกให้เป็นวาระแห่งชาติ และเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลเริ่มรับรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ฟื้นตัวไปตามแผนที่คาดไว้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในช่วงฤดูแล้ง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังบั่นทอนการบริโภค และอาจทำให้การบริโภคของประชาชนไม่สามารถฟื้นตัวได้ในไตรมาส 1/58 ตามที่เคยคาดไว้อย่างไรก็ดี คาดว่าปีนี้ GDP จะเติบโตได้ 3.5-4% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ 1-2% ส่วนกรณีอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบในเดือน ม.ค.58 นั้น เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่ไม่ได้เกิดจากการบริโภคที่ลดลง และยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพียงแต่เป็นความกังวลจากผู้บริโภคเท่านั้น

  "การท่องเที่ยวน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดี ในช่วงก.พ.-มี.ค.นี้ และน่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ประกอบกับเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าจะลงสู่ระบบประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาทภายในปีนี้น่าจะเข้ามาช่วยได้ รัฐบาลต้องทำงานหนักขึ้น เพราะประชาชนเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจช็อต" นายธนวรรธน์ ระบุ

  นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปี 58 จะใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว โดยยืนยันว่า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป แต่ก็จะไม่ฝืนกลไกตลาด ทั้งนี้เชื่อว่าจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมจะเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้ได้

  ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 จะเติบโตได้ 4% จากปีก่อน ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่การเติบโตคงยังไม่สูงนัก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนจะเป็นความหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจการเงินในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนและเกิดความผันผวนได้ นักธุรกิจและนักลงทุนทุกคนไม่ควรประมาท ใช้หลักการบริหารความเสี่ยงและความผันผวนจากทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!