- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Thursday, 21 November 2024 23:14
- Hits: 2110
หอฯจี้'คสช.'ฟื้นศก.ชายแดนใต้ชี้ช่องใช้มาตรการจูงใจเพิ่มให้รับสิทธิ์เว้นภาษีนิติบุคคล
แนวหน้า : นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าภาคใต้ ต้องการเสนอให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาแนวทางสร้างแรงจูงใจแก่นักธุรกิจให้เข้ามาทำการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาความไม่สงบบ่อยครั้งใน3จังหวัดจนกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการไม่กล้าทำธุรกิจในพื้นที่
โดยเห็นว่าควรให้ทางเลือกแก่บริษัทนิติบุคคลที่มีกำไรไม่ต้องเสียภาษี แต่ให้นำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดน (ปัตตานี, ยะลา,นราธิวาส) และบางอำเภอในจ.สงขลาแทน และการที่ผู้ประกอบการจะเข้าลงทุน จะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่นต้องมีการสร้างโรงงาน มีการนำเครื่องจักร และต้องจ้างคนงานในพื้นที่ รวมถึงต้องดำเนินการไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นต้น เพราะหากเกิดการลงทุนระยะยาวขึ้น เชื่อว่าในอนาคตพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มีเศรษฐกิจที่คึกคักและปัญหาการก่อความไม่สงบก็จะลดน้อยลง
“วิธีการที่ภาครัฐจะช่วยได้คือการให้ทางเลือกผู้ประกอบการที่มาลงทุนได้เลือก เช่น เดิมบริษัท ก. อาจต้องต้องเสียภาษี 10 ล้านบาทให้รัฐ ก็เสนอให้เขานำเงินที่ต้องเสียเป็นภาษีมาลงทุนแทน โดยอาจมีการเพิ่มเงื่อนไขว่า จะต้องเพิ่มเงินสมทบอีก 1-2 เท่า หรือเพิ่มอีก 10-20 ล้านบาท มาใช้ลงทุนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ผู้ประกอบการนอกพื้นที่ไม่กล้ามาลงทุนจนทำให้เศรษฐกิจเกิดการซบเซา แต่หากว่าบริษัทไม่ประสงค์ที่จะมาลงทุนก็จ่ายภาษีนิติบุคคลตามปกติตามเดิม”
ขณะเดียวกันหอการค้าภาคใต้ต้องการให้มีการเร่งก่อสร้างถนน 4 เลนในถนนหลักตั้งแต่เส้นจังหวัดชุมพร ระนอง กระบี่ ตรัง สตูล ซึ่งมีระยะทาง 700 กม. แต่เป็นถนน 2 เลนถึง 500 กม. และต้องการให้มีการสร้างรถไฟรางคู่ระหว่างเมืองสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส - อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับเมืองโกตาบารู ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าของทั้งสองประเทศให้เพิ่มขึ้นได้
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคใต้ โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดน ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทางหอการค้าทั้ง 5 จังหวัดได้ร่วมกันหามาตรการในการกระตุ้นการบริโภคและการช่วยเหลือผู้ประกอบการไว้บ้างแล้ว เช่น การร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการจัดงานแสดงสินค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถหาช่องทางการตลาดได้มากขึ้นจากปัจจุบันที่เศรษฐกิจค่อนข้างที่ซบเซามากทั้งในผลกระทบทางการเมือง การก่อความไม่สงบ และราคาพืชผลทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลักของภาคใต้ คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหอการค้าฯก็มีการผลักดันในการจัดงานแสดงสินค้าไปแล้วที่ใกล้กับด่านตรวจคนเข้าเมืองวังประจัน จ. สตูล ซึ่งกับกับรัฐเปอร์ลิส ของมาเลเซียไปแล้ว