- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Wednesday, 25 August 2021 15:44
- Hits: 13574
หอการค้าไทย เดินหน้าร่วมมือภาครัฐ กระทรวงแรงงาน ผลักดันมาตรการแรงงานในสถานณ์โควิด-19
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ด้วยการนำของ ประธานกรรมการ (คุณสนั่น อังอุบลกุล) และคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ตลอดจนได้ร่วมสนับสนุนผลักดันการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของประเทศไทยตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานภาครัฐทุกกระทรวงมาเป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้งโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้น ได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลานาน และมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน/วัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจากการล๊อคดาว์น รวมถึงผลจากการระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือน มกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น ประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยต้องมีการขยายการล๊อคดาว์นต่อไป อาจส่งผลกระทบเกิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับปีนี้ ซึ่งจะทำให้ GDP Growth มีโอกาสติดลบ -1.5% ถึง 0 %
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำงานและประสานงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงแรงงานสำนักงานประกันสังคม ในการออกนโยบายมาตรการเยียวยาต่างๆ อาทิ การตรวจ คัดกรองเชิงรุกการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน และสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ โดยเฉพาะ มาตรการการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย โดยกรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตน ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการจากคำสั่งของรัฐเกิน 90 วัน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ได้ขยายมาตรการดัวกล่าวแล้ว โดยหากมีคำสั่งใหม่ให้ปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิเริ่มต้นครั้งใหม่ได้อีกไม่เกิน 90 วัน ตามระยะเวลาที่คำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ในนามภาคเอกชนต้องขอขอบคุณ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คุณอนุทิน ชาญวีกุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณสุชาติ ชมกลิ่น) ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเสนอมาตรการในการดูแลสถานประกอบการและลูกจ้างร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า มาตรการในการดูแลสถานประกอบการและลูกจ้างร่วมกับกระทรวงแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (รายละเอียดดังเอกสารแนบ)
1) มาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน
2) มาตรการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ
3) มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและสถานประกอบการ
4) มาตรการการบริหารจัดการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานต่างด้าว
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวว่า ถึงแม้ กระทรวงแรงงาน ด้วยการนำของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณสุชาติ ชมกลิ่น) จะมีมาตรการเยียวยาดูแลประชาชน ผู้ประกันตน สถานประกอบการอย่างต่อเนื่องแล้ว หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงการดูแลแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงาน ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งภาคการส่งออก ภาคการผลิต การแปรรูปสินค้าวัตถุดิบในประเทศซึ่งยังได้รับการจัดการที่ล่าช้าอยู่
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงขอเสนอมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน ดังนี้
1) มาตรการเร่งรัดการจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปในจังหวัดใกล้เคียงและควบคุมตัวเลข ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้มีจำนวนสูงมากไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน
2) สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล”
3) เร่งรัดการจัดหาเตียงสำหรับผู้ประกันตนและในกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเตียงสีเหลืองและเตียงสีแดง
4) จัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33
5) ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มมติ 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 1.3 ล้านคน ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้นั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีนและจับคู่งานกับนายจ้าง (Matching) เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว
6) จัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้าและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (จำนวน 500,000 คน ) และศึกษาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU แบบบูรณาการตามมาตรการของสาธารณสุข
สุดท้ายนี้ ผม ในนามของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต้องขอชื่นชมและขอบคุณ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คุณอนุทิน ชาญวีกุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณสุชาติ ชมกลิ่น) ที่ได้มีมาตรการต่างๆ ในการดูแลประชาชน กลุ่มภาคแรงงาน และผู้ประกอบการ แต่ข้อเสนอในวันนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
#หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
#thaichamber #TCC #BOT
-------------------------------------------
ติดตามข้อมูลสาระสำคัญต่างๆ ได้ทาง
Website : www.thaichamber.org
Line@ : https://bit.ly/2ZiAoCc
Instragram : https://bit.ly/2v5TYE7
Facebook : https://bit.ly/2V388o8
YouTube Channel : https://bit.ly/2Un4uAU
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ