- Details
- Category: หอการค้า
- Published: Friday, 12 September 2014 23:17
- Hits: 4102
พิษเศรษฐกิจตกสะเก็ดดันยอดค้างชำระพุ่ง-กลุ่มรายได้น้อยหนี้ท่วมหัว
แนวหน้า : พิษเศรษฐกิจตกสะเก็ดดันยอดค้างชำระพุ่ง-กลุ่มรายได้น้อยหนี้ท่วมหัว เบี้ยวหนี้บัตรเครดิตน่าห่วง
ม.หอการค้าไทย เผยตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิต พบว่า สถานการณ์การผิดนัด ชำระหนี้ น่าเป็นห่วง เหตุภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด กลุ่มรายได้ 1-2 หมื่นบาท/เดือน หนี้ท่วมหัว กลุ่มอาชีพรับจ้าง นักศึกษา ค้างชำระมากที่สุด รอลุ้นมาตรการของรัฐปลุกเศรษฐกิจ ทำให้เงินสะพัดอีกครั้ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน ระหว่างวันที่ 1-6 กันยายน 2557 ว่า สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ถือบัตรเครดิตอยู่ในอัตราที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีของผู้บริโภคที่มีหนี้เต็มวงเงิน และจำนวนหนี้สินเพิ่มขึ้น จะนำไปสู่วงจรภาระการชำระหนี้ และการผิดนัดชำระนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย อาชีพรับจ้าง นักศึกษา และกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท และปัจจุบันคนไทยถือบัตรเครดิตมากสุด 4-5 ใบทั้ง เฉลี่ย 2-3 ใบต่อคน และกระจายไปอยู่ในมือคนหลายระดับมากขึ้นผ่านทั้งแบงก์พาณิชย์ และนอนแบงก์ โดยยังมีความถี่ในการใช้จ่ายบัตรเครดิตเฉลี่ย 2 เดือนต่อครั้ง ซึ่งมีมูลค่าในการใช้ต่อเดือนเฉลี่ย 6,534.99 บาท
“เมื่อพิจารณาหนี้คงค้างบัตรเครดิตแยกเป็นอาชีพ พบว่า อาชีพรับจ้าง มียอดค้างชำระสูงที่สุด รองลงมา คือ นักศึกษา ถือเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการสร้างหนี้ในกลุ่มเยาวชนและอาจนำไปสู่พฤติกรรมสร้างหนี้ที่ไม่เหมาะสมในอนาคต “
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่าภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีการขยายตัที่ชัดเจน ส่งผลให้การใช้ จ่ายผ่านบัตรเครดิตส่งสัญญาณค่อนข้างมีปัญหา โดยจากตัวเลขพฤติกรรมการชำระเงินค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิตในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า การชำระที่ไม่มีการจ่ายหนี้เลย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.3% ขณะที่การชำระบางส่วนรวมกับไม่ชำระเลยจะอยู่ที่ 87% สัดส่วนชำระบัตรทั้งหมด 13% โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท มีหนี้บัตรสูงกว่ารายได้ 2.8 เท่าของรายได้ และรายได้ 10,000-20,000 บาทมีหนี้บัตรเครดิตกว่า 2.7 เท่าของรายได้
ทั้งนี้ จากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุดพบว่าจำนวนบัตรเครดิตมีสูงถึงกว่า 19.52 ล้านใบ และศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าสิ้นปี 2557 จำนวนบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.3 ล้านใบ เติบโต 9.4% จากปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมคาดว่าจะมีปริมาณ 1.53 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5.2% ส่วนการใช้จ่ายต่อบัตร 1 ใบจะอยู่ที่ 75,384.93 บาท ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งมีการใช้จ่ายต่อบัตรที่ 78,408.02 บาท
“อย่างไรก็ตาม พบว่ายอดใช้จ่ายต่อใบลดลงเป็นครั้งแรก แม้ว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยรวม เพิ่มขึ้นตามจำนวนบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายต่อบัตรลดลง ซึ่งมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบัตรเครดิตได้ขยายลงไปสู่กลุ่มที่มีรายได้น้อยมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรจึงถูกถ่วงน้ำหนักลง และสาเหตุหลักอีกอย่างคือสภาวะเศรษฐกิจที่ยังซึมตัวจากปัญหาภาระหนี้สินรถยนต์คันแรก หนี้นอกระบบ และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น รวมถึงการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคายาง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง”
สำหรับ ลักษณะการใช้จ่าย 36.4% ใช้ผ่อนสินค้า 31.5% ใช้เบิกเงินสด และ 31.1% ใช้แทนเงินสด ส่วนการชำระหนี้จากบัตรเครดิต 87.2 % มีการชำระบางส่วนหรือไม่ชำระเลย และมีเพียง 12.8% ที่ชำระทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและหนี้ครัวเรือน โดยการสร้างนิสัยการอยู่อย่างพอเพียง ลดค่าครองชีพให้ประชาชน ลดอัตราดอกเบี้ย หรือทำข้อตกลงเพื่อล้างหนี้ สร้างงาน และกระจายรายได้ให้เป็นธรรม แก้ปัญหาความยากจน รวมถึงสร้างอาชีพเสริมหรือจัดอบรมความรู้วิชาชีพเพิ่มเติม อีกทั้งรัฐบาลควรต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นการลงทุนให้เร็วขึ้น และผลักดันการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากเศรษฐกิจเริ่มคึกคักภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557นี้ได้ ก็จะมีแรงผลักทำให้เศรษฐกิจปีหน้า ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 4-5% และจะทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะคึกคักได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ร่วมกับบริษัท Standard & Poor’s Ratings Services จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Thailand’s Banking Outlook and Hybrid Capital under BASEL III” ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในงานสัมมนา Mr. Kim Eng Tan ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของ Standard & Poor’s ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่ามีปัจจัยสนับสนุนจากภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง หนี้ภาครัฐที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกัน อันดับเครดิตของประเทศไทยยังถูกจำกัดจากภาวะทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน และระดับรายได้ของประชาชนที่ยังค่อนข้างต่ำ ภาวะการเมืองของประเทศไทยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้พื้นฐานด้านเครดิตของประเทศไทยอ่อนแอลง อันอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาประเทศ
Ms.Geeta Chugh ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของ Standard & Poor’s ได้สรุปความเสี่ยงที่สำคัญ และแนวโน้มของภาคสถาบันการเงินของไทย ว่าความเสี่ยงด้านเครดิตมีแนวโน้มคงที่ (Stable) และเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองของไทยจะต้องใช้เวลานานพอควรในการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในอนาคต อย่างไรก็ดี ธนาคารในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตส่วนมากมีการดำรงระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีระดับของรายได้ที่เหมาะสมกับอันดับเครดิตที่ได้รับอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารเหล่านี้อยู่ในสถานะที่เข้มแข็งต่อไปถึงปีหน้า
ศก.ซึม!รูดปรื๊ด 1.5 ล้านล.วงเงินเต็ม-เบี้ยวหนี้เพิ่ม
ไทยโพสต์ : ราชบพิธ * รูดบัตรเครดิตปีนี้ 1.53 ล้านล้านบาท เพิ่มแค่ 5.2% ต่ำกว่าระดับปกติ คนกังวลเศรษฐกิจแย่ หนี้เต็มวงเงิน เริ่มชักดาบเพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐ กิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอ การค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน ว่า ปีนี้การบริโภคผ่านบัตรเครดิตจะมีมูลค่า 1.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 1.45 ล้านล้านบาท
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อใบเฉลี่ยอยู่ที่ 7.53 หมื่นบาท จากปีก่อนที่ใช้จ่ายเฉลี่ย 7.84 หมื่นบาทต่อบัตร ถือว่าต่ำสุดตั้ง แต่มีการสำรวจ ซึ่งต่ำกว่าในภาวะเศรษฐกิจปกติที่ปริมาณการใช้จ่ายจะขยายตัวอยู่ในระดับ 10%
ทั้งนี้ พฤติกรรมการใช้บัตร เครดิตส่วนใหญ่ 82% จะถือบัตร เครดิตประมาณ 2 ใบต่อคน ความถี่ในการใช้บัตรเฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน และมองว่าในอนาคต 3 เดือนข้างหน้า จะมีการใช้ที่ลดลง ทั้งความถี่และมูลค่า เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังแย่ กลัวเป็นหนี้มากขึ้น รายได้ลดลง และวงเงินเต็มแล้ว ซึ่งวงเงินส่วนใหญ่อยู่ที่ 4.3 เท่าของรายได้
โดยพบว่า มี 6.5% ที่ไม่จ่ายหนี้เลย และในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ที่ไม่ชำระหนี้เลยเพิ่มเป็น 11.3% โดยผู้ที่ผิดชำระหนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เช่น รับจ้าง และนักศึกษา ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณลงมาให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภค.