WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

G Eknitiสกรศ. แถลงข่าวสร้างความเข้าใจระเบียบการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (PPP)กับ 5 โครงการหลักในพื้นที่ EEC

     สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) แถลงข่าวสร้างความเข้าใจ ถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (ระเบียบ PPP EEC Track) เพื่อขับเคลื่อน 5 โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

       ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เผยว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันโครงการเหล่านี้ผ่านระเบียบ PPP EEC Track ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ซึ่งนอกจากช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน เร่งกระบวนการทำงานทั้งหมดให้รวดเร็วขึ้น ใช้เวลาในการจัดเตรียมและเสนอโครงการ ไปจนถึงการคัดเลือกเอกชนและลงนามสัญญา ภายในเวลา 8-10 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่จะใช้เวลารวมประมาณ 40 เดือน และขั้นตอน Fast Track ที่จะใช้เวลารวมประมาณ 20 เดือน และยังช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการกู้เงินหรือการนำงบประมาณของภาครัฐมาลงทุนได้เป็นอย่างมาก ขณะที่ประชาชนยังจะได้รับประโยชน์จากการบริการที่มีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม

      ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระเบียบ PPP EEC Track จะช่วยผลักดันให้โครงการลงทุนใน EEC เดินหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเสนอโครงการโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการ การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน การกำกับดูแลและติดตามผลให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาร่วมทุน การแก้ไขสัญญา การทำสัญญาใหม่และการยกเลิกสัญญาหากมีเหตุจำเป็น การรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน ไปจนถึงขั้นตอนการรายงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสาระสำคัญของสัญญาร่วมทุน วิธีการคัดเลือกเอกชน และผลการดำเนินโครงการในส่วนที่ไม่เป็นความลับทางการค้าของเอกชน อย่างน้อย 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง

     ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการ EEC ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจการค้าโดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางน้ำ ให้เชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผลักดันให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่ตลาด CMLV และจีนตอนใต้ โดย 5 โครงการสำคัญในพื้นที่พัฒนา EEC ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) ประกอบด้วย 1. สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา 3. รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 4. ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และ 5. ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดร่างขอบเขตงาน (TOR) ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2561

      ทั้งนี้ สำหรับ โครงการ EEC รัฐบาลได้จัดเตรียมสิทธิประโยชน์และมาตรการต่างๆ เพื่อดึงดูดเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาโครงการ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น สำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก 1 ปี สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อการศึกษาลู่ทางการลงทุน หรือนำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน รวมถึงการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ (สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา) ฯลฯ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!