WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไทย-จีน หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเป็นหัวใจขยายตลาดการค้าอาเซียน

     นายอู๋ จื้อ อู่ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ China Connectivity with the ASEAN Economic Community ว่า จีนกับอาเซียนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ต้องการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยจีนอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากที่พึ่งพาภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก มาเป็นการพัฒนาภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)จะช่วยให้นักท่องเที่ยวจากอาเซียนเดินทางมาจีนมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของจีนที่จะขยายตลาดการบริการ

     ทั้งนี้ หลังจากจีนและอาเซียนเปิดเขตการค้าเสรีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาระหว่างกันในปี 43 ส่งผลให้ยอดการค้าการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จนปัจจุบันอาเซียนกลายมาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน

    ขณะที่การดำเนินโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะทางรางและทางถนนที่เริ่มมีความชัดเจนในเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว ขึ้นไปยังมณฑลยูนนานของจีน เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มเป็นกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนพร้อมที่จะร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ กับไทย เพื่อขยายตลาดการค้ากับอาเซียนในอนาคต

   ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและเชื่อมโยงการขยายตัวเศรษฐกิจร่วมกัน โดยตั้งเป้าปริมาณการค้าขายระหว่างประเทศให้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 63 ทั้งในด้านของสินค้าเกษตร อาหาร รถยนต์ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงความร่วมมือกันในการผลิตสินค้า

    สำหรับ การพัฒนาในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งจากจีน และเกาหลีใต้ ให้ความสนใจร่วมลงทุนอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาเทคโนโลยีและความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างจีน-ลาว-ไทยที่ปัจจุบันทางการจีนได้สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมมายังลาว และจะต่อเนื่องมายังไทยเพื่อเชื่อมโยงต่อไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย จะเป็นส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งด้านคมนาคม เศรษฐกิจ และการค้า

    ขณะที่นายสารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่าประเทศจีนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีความต้องการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้มากขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาเพราะปัจจุบันก็ยังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข ทั้งปัญหาด้านกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุน สาธารณูปโภค การคมนาคม หากทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งหวังในการที่จะแก้ปัญหาจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีความสัมพันอย่างใกล้ชิดได้

   นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู ผู้อำนวยการและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ในแง่ของการค้าระหว่างประเทศกับภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี โดยในปี 63 คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนจีนหันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ได้ศึกษาถึงศักยภาพของ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 58 ทำให้มีนักลงทุนจีนได้มีการเตรียมความพร้อมในการลงทุนที่จะนำผลประโยชน์มาให้อย่างมาก

  ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินบางแห่งจากประเทศจีนได้เข้ามาสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเช่น การสร้างท่าอาศยานนานาชาติเนปิดอร์ของเมียนมาร์ การสร้างถนนไฮเวย์และระบบไฮโดรพาวเวอร์ที่กัมพูชา เป็นต้น ประกอบกับมีการเข้ามาตั้งสาขาของธนาคารจากประเทศจีน 2 ธนาคารในประเทศไทย ได้แก่ ธนาคาร ICBC และธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) นอกจากนี้นักลงทุนจากจีนบางรายยังมีการเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยด้วย

   "นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย เขามองว่าเมื่อเปิด AEC แล้ว ประเทศเราจะเป็น HUB ที่สำคัญในการเชื่อมต่อไปยังประเทศต่างๆ เช่น พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย โดยไทยยังมีศักยภาพที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้ แต่เรายังขาดการสนับสนุนและความรู้ที่ดี ทำให้การรับมือยังไม่ดีพอ เรายังสามารถหาแสวงหาโอกาสที่เป็นประโยชน์ได้อยู่ เพราะมูลค่าในอนาคตข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นมาก การค้าขายต่างๆก็ไม่ใช่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นการค้าระหว่างประเทศ ประเทศจีนก็เป็นคู่ค้าที่เราควรให้ความสนใจทำการค้าด้วย ในแง่ของการลงทุนและการท่องเที่ยว เพราะมีคนจีนจำนวนมากสนใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทย"นายชาญศักดิ์ กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรจะมีการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีคุณภาพ และครอบคลุมเชื่อมต่อไปยังประเทศใกล้เคียง เพื่อทำให้ต้นทุนในการทำโลจิสติกส์ลดต่ำลง เพราะประเทศของเราสามารถเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของ AEC ประกอบกับ ภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการค้า และใช้มาตรการกีดกันด้านภาษีที่มีความเหมาะสม เพื่อทำให้การติดต่อค้าขายไม่มีปัญหามากจนเกินไป

    ทั้งนี้ นักลงทุนในประเทศไทยควรศึกษาด้านการลงทุนอย่างหนักเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนักลงทุนจีนที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพมากกว่าไทย ควรมีการเรียนรู้ตัวอย่างบางเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศจีนและฮ่องกงที่เป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจและการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายใต้การควบคุมและแรงกดดันจากประเทศจีน และควรมีการปรับปรุงและยอมรับข้อตกลงมางการค้าบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าให้มีอุปสรรคน้อยลง และเป็นประโยชน์ต่อคู่ค้าทั้ง 2 ฝ่าย

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!