- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Wednesday, 30 July 2014 23:05
- Hits: 6880
บ้านเมือง: 2 ล้านล้านบาทจะได้อะไรมั่ง
บ้านเมือง : ตอนนี้ คสช.เข้ามากุมอำนาจแล้วไม่มีอะไรที่ฮิตที่สุดเท่ากับการขออนุมัติกู้เงินวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเท่าที่ทราบประเทศไทยไม่ได้มีการลงทุนในด้านนี้มาเป็นเวลานานแล้ว เท่าที่ทราบไม่ต่ำกว่า 20 ปี ประเทศในเอเชียหลายประเทศได้มีการดำเนินการไปแล้ว สำหรับในอาเซียน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็ได้ทำรุดหน้ากว่าเราไปเรียบร้อยแล้ว จากการให้สัมภาษณ์ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาระบบคมนาคมพื้นฐานนั้น ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 3 เรื่อง คือ
1.การเปลี่ยนระบบขนส่งจากการขนส่งทางถนน มาเป็นทางรางและทางน้ำ ซึ่งประหยัดกว่า คือ ทางรางประหยัดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทางน้ำจะประหยัดกว่าถึง 3 เท่า โดยจะทำการก่อสร้างรถไฟรางคู่ก่อนเป็นอันดับแรก และจะมีการเพิ่มรถไฟรางเดี่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นรางคู่ด้วย ใช้งบประมาณ 3-4 แสนล้านบาท นอกจากนั้นก็จะมีการปรับปรุงและเพิ่มระบบขนส่งทางน้ำ โดยจะปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ให้ดีและสะดวกขึ้น ใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
2.โครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯเชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯระยอง กรุงเทพฯ-หัวหิน แต่ในการสร้างจริงๆ นั้น เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย จะสร้างแค่กรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน เพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณ 7 แสนล้านบาท จากนั้นค่อยขยายต่อไปยังหนองคายในภายหลัง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง น่าจะเปิดใช้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งได้แก่เส้นทาง กรุงเทพฯพิษณุโลก และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ด้วยการปรับปรุงด่านตรวจคนเข้าเมือง ตามจุดต่างๆ 41 จุด ทั่วประเทศ โดยการแบ่งแยกช่องสินค้าและผู้โดยสารให้เป็นระบบ ลดระยะเวลาในการผ่านให้คล่องตัวและเร็วขึ้น ส่วนงบประมาณที่เหลือจากทั้ง 3 หลักดังกล่าวข้างต้น จะนำไปใช้ในการปรับปรุงถนน เช่น มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพิ่มถนน 4 เลนส์ทั่วประเทศ ซ่อมถนนที่ทรุดโทรม คาดว่าใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาท
ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์ดูว่าน่าทำหรือไม่ หากวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว เป็นสิ่งที่น่าทำมากๆ เนื่องจากอีกเพียงปีเศษๆ ประเทศไทยก็ต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นความเจริญก้าวหน้า ความสะดวก ความรวดเร็วในระบบคมนาคม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การคมนาคมที่สะดวกนั้นมิได้ก่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนคนไทยเพียงอย่างเดียว เพราะหากเป็นเพียงแค่นั้นก็ไม่น่าลงทุน เพราะการที่จะสร้างรายได้กลับเข้ามาเพื่อนำไปจ่ายเงินกู้คืนคงจะไม่มีความสามารถเพียงพอ แต่หากระบบคมนาคมที่เราจะกู้เงินไปปรับปรุง ก่อให้เกิดการขนส่งสินค้าที่ทั้งนำเข้าและส่งออกได้รวดเร็วขึ้น ก็จะทำให้เรามีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ทั้งจากค่าขนส่งและรายได้จากการค้าขายด้วย นอกจากนั้นยังสร้างความสะดวกและความรวดเร็วให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีก ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้มากขึ้น