- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Monday, 04 January 2016 13:49
- Hits: 8108
เมกะโปรเจ็กต์ขุมทรัพย์ปีวอก รับเหมาก่อสร้างจ้องรุมทึ้ง 1.79 ล้านล.
ในปี 2559 ถือเป็นปีทองของวงการธุรกิจก่อสร้าง เพราะรัฐบาลจะมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม ที่มีถึง 20 โครงการ วงเงินรวมกว่า 1.796 ล้านล้านบาท
บรรดาโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมที่จะเข้าเกียร์เร่งสปีดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานด้วยกัน เริ่มต้นจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มี 6 โครงการ คือ 1.รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท มีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 19 แห่ง สถานีย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้า 3 แห่ง เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทาง ที่ตำแหน่งด้านขวาของทางฝั่งตะวันออก และขนานไปกับทางรถไฟเดิม เริ่มต้นที่บริเวณสถานีชุมทางถนนจิระถึงสถานีขอนแก่น ลักษณะโครงสร้างทางวิ่งรถไฟเป็นทางวิ่งระดับพื้นทั้งหมด ยกเว้นช่วงบริเวณสถานีขอนแก่นจะเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 5.4 กม. ระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร แบบใช้หินโรยทาง และหมอนคอนกรีต โดย ร.ฟ.ท.จะเริ่มส่งมอบพื้นที่ให้กับทางผู้รับเหมาในเดือนมกราคมนี้ ก่อสร้างได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ใช้เวลาดำเนินการ 36 เดือน แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการปี 2561
2.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงินประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ผ่านรายวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ มีกำหนดประกวดราคาเดือนกุมภาพันธ์นี้ ลงนามในสัญญาก่อสร้างเดือนกันยายน แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2562
3.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงินประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาอีไอเอ เสนอ ครม.เดือนมกราคมนี้ จากนั้นจึงจะประกวดราคาเพื่อก่อสร้างได้กำหนดแล้วเสร็จปี 2563
4.รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และ 5.รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนอีไอเอ จะเสนอ ครม.อนุมัติในเดือนมกราคมนี้ ประกวดราคาได้ไม่เกินเดือนมีนาคม เซ็นสัญญาก่อสร้างได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการปี 2563
6.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทางรวม 25.9 กม. วงเงินประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวลเสนอ ครม.อนุมัติ จะประกวดราคาได้ในช่วงครึ่งปีแรก
- รฟม.พร้อมประมูลรถไฟฟ้าหลากสี
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี 4 โครงการ คือ 1.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กม. วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว รฟม.อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ประกวดราคาได้ในเดือนมีนาคมนี้
2.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท และ 3.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) บรรจุวาระเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพีพีพีก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ และประกวดราคาได้ภายในปีนี้
4.รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมสรุปเข้า ครม.อนุมัติ และประกวดราคาภายในปีนี้
- ทล.เดินหน้ามอเตอร์เวย์เชื่อมตจว.
กรมทางหลวง (ทล.) มี 3 โครงการ คือ 1.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างประกวดราคางานโยธา รวม 13 ตอน เริ่มก่อสร้างเดือนมกราคมนี้ แล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการปี 2563
2.มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนอีไอเอในบางช่วง เปิดประกวดราคาได้ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน เริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคมนี้ แล้วเสร็จปี 2563
3.สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนอีไอเอตลอดแนวเส้นทาง ประกวดราคาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ก่อสร้างเดือนมิถุนายนนี้ แล้วเสร็จปี 2563
- กทท.พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มี 2 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ เอ) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงินประมาณ 1.8 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าชายฝั่ง 3 แสนทีอียูต่อปี ได้ประกวดราคาและลงนามก่อสร้างแล้ว ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2561
2.โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าทางรถไฟ 2 ล้านทีอียูต่อปี โดยโครงการนี้ผ่านอนุมัติจาก ครม.แล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา จะประกวดราคาได้ไม่เกินเดือนมกราคมนี้ ลงนามกับผู้ชนะได้เดือนมีนาคม เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน ใช้เวลา 18 เดือน แล้วเสร็จภายในปี 2561
- ทอท.ขยายสุวรรณภูมิเฟส2
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มี 1 โครงการ คือ การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ระหว่าง 2559-2563) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรับได้ 45 ล้านคนต่อปี โดยการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (โครงสร้างใต้ดินและลานจอด) และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค จะประกวดราคาต้นปีนี้ ได้ผู้รับเหมาเดือนมีนาคม ส่วนงานต่อเติมอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก จะได้ผู้รับเหมาภายในเดือนมิถุนายน ก่อสร้างเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2562
- เร่งรถไฟไทย-จีน-ญี่ปุ่นและไฮสปีด
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการอีก 4 โครงการ คือ 1.รถไฟไทย-จีน ช่วงหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง คือ 1.กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. 2.ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. 3.ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และ 4.ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. มีกำหนดเริ่มก่อสร้างช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมนี้
2.รถไฟไทย-ญี่ปุ่น แบ่งเป็นรถไฟขนาดราง 1 เมตร เส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทาง 180 กม. กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 225 กม. กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 กม. และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. เบื้องต้นจะเปิดเดินรถในเส้นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร เพื่อขนส่งสินค้าและปรับปรุงทางเดิมก่อนจะขยายเส้นทางดังกล่าวให้เป็นรถไฟทางคู่ ขณะที่ไฮสปีดเทรนยังต้องใช้เวลาศึกษาตลอดทั้งปีนี้
3.รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท และ 4.รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. วงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างประมวลโครงการและประสาน สคร. เพื่อบรรจุในพีพีพี กำหนดประกวดราคาได้ปีนี้
- ก่อสร้างเพิ่มหลายโครงการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการนอกเหนือจากระยะเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นเดียวกัน คือ 1.รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ประกวดราคาจนได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้ แล้วเสร็จปี 2561
2.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.8 กม. วงเงินประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท จะเริ่มดำเนินการช่วงพญาไท-บางซื่อก่อน อยู่ระหว่างประมวลเพื่อเสนอ ครม. กำหนดประกวดราคากลางปีนี้
3.รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และช่วงคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 7 กม. วงเงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติในเดือนมกราคมนี้ กำหนดแล้วเสร็จปี 2565
โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า ทุกโครงการดังกล่าวจะสามารถเดินหน้าประกวดราคาและก่อสร้างได้ตามแผนงานที่กำหนดในปีนี้แน่นอน ถึงแม้จะมีโครงการเป็นจำนวนมากก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การประกวดราคาก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างประกวดราคามอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเปิดประกวดราคา รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพีพีพีแล้ว และอีกหลายโครงการยังได้กำหนดรายละเอียดเพื่อเตรียมประกวดราคาเช่นเดียวกัน
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด แบ่งการประกวดราคาเป็น 13 สัญญา ได้ผู้รับเหมาแล้ว 3 สัญญา เหลือ 10 สัญญา โดย 8 สัญญาอยู่ระหว่างหาผู้รับเหมาคาดว่ากลางเดือนมกราคมนี้น่าจะได้ตัวแน่นอน ส่วนที่เหลืออีก 2 สัญญาอยู่ระหว่างแก้ไขแบบเนื่องจากผ่านพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือนมกราคม และประกาศประกวดราคาพร้อมลงนามก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายนนี้
...จะเกิดขึ้นได้จริงทุกโครงการหรือไม่ ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด!!!...