- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Monday, 16 June 2014 23:52
- Hits: 6718
ระดมกึ๋นหาแหล่งเงินวันนี้คลังเตรียมงบลงทุนโครงการด้านคมนาคม 3 ล้าน ล.
บ้านเมือง : คลังนัดถกหาแหล่งเงินลงทุนโครงการด้านคมนาคม วงเงิน 3 ล้าน ล. 16 มิ.ย.นี้ เผยแหล่งเงินมาจาก 3 แหล่ง ทั้งงบประมาณ-เงินกู้-เอกชนร่วมลงทุน ขณะที่สำนักงบเร่งสรุปแผนการลงทุนที่ชัดเจน
นายสุวิชญ โรจนวานิช ที่ปรึกษาด้านตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (16 มิ.ย.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สบน. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ
"การพิจารณาแหล่งทุนที่จะใช้ในโครงการลงทุนดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จเพื่อเสนอให้ทีมเศรษฐกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้พิจารณาในวันพฤหัสบดีที่ 19 มิ.ย.นี้"
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันสรุปแผนการลงทุนที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่แผนการจัดหาแหล่งทุนที่เหมาะสม โดยแผนการลงทุนที่ชัดเจนนี้ หมายถึง จะต้องสามารถลงทุนได้จริงในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งสำนักงบประมาณมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการลงทุนที่ไม่ชัดเจนมาก เพราะจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี
"ทางสำนักงบประมาณมีความกังวลเกี่ยวกับแผนการลงทุนที่อาจจะไม่สามารถทำได้จริงตามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งได้นำเสนอไป โดยยกตัวอย่างว่า มีหลายโครงการลงทุนที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ซึ่งถูกบรรจุในงบรายจ่ายตั้งแต่ปี 2555 และ 56 ดังนั้น จึงขอให้หน่วยงานลงทุนมีการลงทุนที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้มากที่สุด"
ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการลงทุนดังกล่าวจะมาจาก 3 ส่วน คือ 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.เงินกู้ โดย สบน.เป็นผู้จัดหา และ 3.การให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น จะถูกนำมาใช้ในขั้นตอนแรกของโครงการ เช่น การจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ การเวนคืนที่ดิน หรือการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนเงินกู้นั้นจะถูกนำมาใช้สำหรับขั้นตอนของการลงทุนก่อสร้างทั้งหมด
สำหรับในแง่เงินกู้ที่ สบน.รับผิดชอบนั้น ถือว่ามีความพร้อม โดยวงเงินที่สามารถก่อหนี้หรือกู้มีสัดส่วนถึง 50% ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี โดยปี 2558 วงเงินงบรายจ่ายอยู่ที่ 2.575 ล้านล้านบาท สบน.สามารถกู้ได้ในจำนวน สูงสุดที่ 1.275 ล้านล้านบาท
"เรามีช่องในการกู้ในสัดส่วนที่สูงถึง 50% ของงบรายจ่ายในแต่ละปี หากปี 58 ไม่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดๆ กู้เลย เราจะมีวงเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการลงทุนด้านคมนาคมถึง 1.275 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถกู้เพื่อโครงการลงทุนด้านเดียว เพราะยังมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นที่ขอกู้เช่นกัน แต่มีจำนวนไม่มากนัก"
ทั้งนี้ เท่าที่ประเมินจากขั้นตอนการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ อาทิ การก่อสร้างรางคู่ของรถไฟ ก็เชื่อว่าจะใช้เวลาในการศึกษาการลงทุนต่างๆ นานพอสมควร หรืออาจใช้เวลาเป็นปี ดังนั้น การกู้เงินก็อาจจะไม่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงปีงบ 58 แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนและผลสรุปของแผนการลงทุนต่างๆ ด้วย
นอกจากนั้น ทางทีมเศรษฐกิจ สสช.ได้ขอให้ สคร.เร่งรัดการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่ในการระดมเงินทุนนำมาใช้ในโครงการลงทุนในระบบรางคู่ของรถไฟ เพื่อลดภาระงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ แต่การใช้วิธีนี้จะต้องทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. กล่าวย้ำว่า ในส่วนโครงการระบบการขนส่งขั้นพื้นฐาน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสนับสนุนให้กระทรวงคมนาคมเดินหน้า โครงการรถไฟรางคู่ ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงต้องนำไปขบคิดว่ามีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน
"รถไฟฟ้าความเร็วสูง ท่านต้องไปดูต่างประเทศเขากำหนดกติกาอย่างไร ให้สัมปทาน 50-100 ปี ประเทศไทยรับได้ไหม ต่อไปเขาขอพื้นที่สองข้างทางอีกสองกิโลทำธุรกิจเขา และเอาคนแสนคนมาทำงาน ผมถามว่าท่านรับได้ไหม"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงโครงการขุดคอคอดกระ ซึ่งเป็นแผนเดิมอยู่ ต้องไปพิจารณาเสียก่อน สภาพดินเป็นอย่างไร ผ่านการประชาพิจารณ์อีไอเอหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ทำเลย ไม่ต้องถึงขั้นให้ตนสั่ง ส่วนโครงการรถไฟฟ้าถ้าอยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ทำไป เช่น ย่านรังสิต ที่มีเส้นทางวิ่งด้วนๆ ตรงโฮปเวลล์ควรไปดูจะทำอย่างไรต่อ