- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Thursday, 10 March 2022 00:00
- Hits: 8521
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 9 มีนาคม 2565
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2565 วันพุธที่ 9 มกราคม 2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. ยกระดับสินค้าโอทอป นำนวัตกรรมพัฒนาสินค้า ขายตรงความต้องการตลาด เพิ่มรายได้ชุมชนในพื้นที่ อีอีซี
ที่ประชุม กพอ. รับทราบ โครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี นำเทคโนโลยีมาส่งเสริมสินค้าโอทอป (OTOP) เพิ่มศักยภาพการขยายช่องทางจำหน่ายให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งช่วยหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน พร้อมตั้งกลุ่มเป้าหมายและสินค้าที่นิยมในพื้นที่นำร่อง อย่างน้อย 10 ชุมชน ได้แก่ จังหวัดระยอง เช่น ทุเรียนทอดกรอบ เครื่องเงิน จังหวัดชลบุรี เช่น พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน ข้าวกล้อง สบู่เปลือกมังคุดจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ หมูแท่งอบกรอบ เป็นต้น โดยมีแนวทางดำเนินการ 2 รูปแบบ ได้แก่ตั้งบรรษัทวิสาหกิจชุมชน (EEC EnterPrise) เช่น การลงทุนร่วมระหว่าง สกพอ. สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน เอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาดส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และศูนย์พัฒนาธุรกิจชุมชน (EEC Incubation Center) ทำหน้าที่ ศึกษาวิจัย พัฒนาสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ รวมทั้งฝึกอบรมบุคลากรให้ทำงานร่วมกับนวัตกรรมใหม่ โดยคาดว่าโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในตุลาคม 2565 นี้
ประโยชน์ที่ได้รับ สามารถเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชนไม่ต่ำกว่า 30% รายได้รวม (GDP) ระดับชุมชนประมาณ 20% และเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 20% นอกจากนี้ ทำให้ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี มีคุณภาพ เกิดแรงจูงใจกลับมาเที่ยวซ้ำ ทำให้ชุมชนคนพื้นที่ อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ดีมั่นคง
2. สิทธิประโยชน์อีอีซี ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ก้าวสำคัญดึงลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี
ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการอีอีซี โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมพิเศษ รวม 7 เขต ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันอออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) ศูนย์นวัตกรรมการแพทยครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง
โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) ให้สิทธิประโยชน์อีอีซี แก่นักลงทุน ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มีหลักการที่สำคัญคือ การสร้างนวัตกรรมการให้บริการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ เน้นการออกแบบสิทธิประโยชน์ตรงตามความต้องการของนักลงทุน โดยการเจรจาให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนแต่ละราย ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ที่ลงทุนใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์อีอีซี เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดการลงทุนที่คล่องตัว เพื่อจูงใจนักลงทุนรายใหญ่เข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตามเป้าหมายของอีอีซี
3. เตรียมงานระดับโลก International Air Show โชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมการบิน จูงใจการลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี
ที่ประชุม กพอ. พิจารณาให้ สกพอ. ร่วมกับ กองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. จัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานและจะส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค อีกทั้งทำให้เกิดแรงจูงใจกับนักลงทุนและเชื่อมโยงนักธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกเข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันจุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญ เสริมแกร่งการลงทุนเข้าสู่ในพื้นที่ อีอีซี ตามเป้าหมายเม็ดเงินลงทุน2.2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
การจัดงานฯ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับระยะเวลาเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570 จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้โครงการฯ จะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566 - 2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show ทั้งหมด จะสามารถสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศ มากถึงประมาณ 8,200 ล้านบาท
A3361