- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Sunday, 07 October 2018 23:21
- Hits: 9595
บอร์ด EEC เห็นชอบ 4 โครงการด้านโครงสร้างฟื้นฐาน เตรียมออกหนังสือชี้ชวนเอกชนลงทุนใน ต.ค.นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เห็นชอบหลักการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (EEC Project List) อีก 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้เคยเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะมีการออกหนังสือชี้ชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
โครงการเพิ่มเติมทั้ง 4 ดังกล่าว ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท (ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท) , 2.โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท (ภาครัฐ 6,333 ล้านบาท ภาคเอกชน 4,255 ล้านบาท), 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 114,047 ล้านบาท และ 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท (รวมเงินลงทุนทั้งหมด ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า)
กำหนดการทำงาน โครงการที่ 1 โครงการที่ 2 โครงการที่ 3 โครงการที่ 4
ออกหนังสือชี้ชวน ต.ค.61 ต.ค.61 ต.ค.61 ต.ค.61
ได้เอกชนผู้ร่วมทุน ก.พ.62 ธ.ค.62 ก.พ.62 ม.ค.62
เปิดดำเนินการ ปี 66 กลางปี 65 ปลายปี 66 ต้นปี 68
สำหรับรายละเอียดของ 4 โครงการ มีดังนี้ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ กองทัพเรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากทางวิ่งที่ 2 และทางขับ (Runway 2 & Taxiway) ที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนแล้ว มีกิจกรรมรวม 6 ประเภท 1) อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (หลังที่ 3) 2) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) และการขนส่งภาคพื้น (GTC) 3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (ระยะที่ 2 นอกเหนือจากระยะแรก 500 ไร่) 4) เขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village or Free Trade Zone) และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) 6) ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ รวมถึงกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็น และการจัดตั้งหอบังคับการบิน ระบบควบคุมการจราจรทางอากาศ
2. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ บมจ.การบินไทย (THAI) กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance / Base Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) การพ่นสีอากาศยาน และส่วนประกอบอื่น (Aircraft Painting) กิจกรรมอื่นๆ ในการซ่อมบำรุงอากาศยาน
3.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อเพิ่มความสามารถเป็น 18 ล้าน TEU จาก 11 ล้าน TEU ในปัจจุบัน โดยการท่าเรือจะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล และให้เอกชนลงทุนการให้บริการท่าเรือ โดยเริ่มต้นจากที่ F1 และ F2 ก่อน ให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยใช้ระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม การท่าเรือจะได้ดำเนินส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานล่วงหน้าโดยเฉพาะระบบรถไฟทางคู่ให้เข้าเชื่อมระบบเรือสู่ราง
4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นการขยายท่าเรือมาบตาพุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (ประมาณ 10.8 ล้านตัน/ปี) และสินค้าเหลว (ประมาณ 4 ล้านตัน/ปี) ให้เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมระดับภูมิภาค หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
โดย 5 โครงการสำคัญของ EEC ดังกล่าวซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะมีเงินลงทุนรวม 652,559 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 209,916 ล้านบาท (32%) ภาคเอกชน 442,643 ล้านบาท (68%) ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ อยู่ที่ 819,662 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน ส่วนผลตอบแทนทางการเงินโครงการ 559,715 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐ 446,960 ล้านบาท ภาคเอกชน 112,755 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบ 8 แผนงานระยะเร่งด่วนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา 5 ปี เพื่อรองรับ EEC เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ประกอบด้วย
แผนงานที่ 1 การพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) และสถาบัน IoT
แผนงานที่ 2 การพัฒนา Advanced Big Data, Cloud and Data Center (ABCD)
แผนงานที่ 3 การพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ (Automated Postal Distribution Center)
แผนงานที่ 4 IoT SMART City
แผนงานที่ 5 การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง
แผนงานที่ 6 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในเขต EEC
แผนงานที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิ้ลใยแก้วนำแสงและเสา (i-Pole)
แผนงานที่ 8 ASEAN Digital Hub
อินโฟเควสท์
ทัพญี่ปุ่นจ่อลงทุนอากาศยาน-เครื่องมือแพทย์-หุ่นยนต์
แนวหน้า : นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงเพื่อความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เจโทร) ว่า การลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในครั้งนี้ เกิดขึ้น จากความตั้งใจของเจโทรและ สกพอ. ที่จะทำงานร่วมกันในการสร้างกรอบ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลงทุนจาก นักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก(อีอีซี)
โดยเจโทรและ สกพอ. จะมีกิจกรรมร่วมกันในหลายประการ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวข้องกับนโยบายของอีอีซี สิทธิประโยชน์ และขั้นตอนการลงทุนต่างๆ ให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบ พร้อมสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ระดับสูง และการยกกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งผลักดันการลงทุนใหม่จากบริษัทญี่ปุ่นในสาขาเฉพาะ (SectorSpecific Approach) เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และร่วมกันขับเคลื่อน ให้โครงการการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในอีอีซีให้เกิดผลสำเร็จ
"เจโทร และ สกพอ. ได้ผนึก กำลังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะได้การดูแลเป็นอย่างดีทั้งจากเจโทรและ สกพอ."นายคณิศกล่าว
นายฮิโรกิ มิตซูมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ ภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เจโทร) กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 5,400 บริษัท โดยมี 1,016 บริษัทได้ลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยข้อมูลจากระทรวงพาณิชย์เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 53% ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในอีอีซี รวมทั้งญี่ปุ่นได้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอันดับ 1 คิดเป็น 49% ของยอดขอการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีทั้งหมดจะเห็นว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญในการปรับบทบาทประเทศไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงเป็นอย่างมาก
"เจโทรจะจับมือกับอีอีซี บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมโดยมีการตั้งฐานการลงทุนไว้แล้วในประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งของฐานเดิมที่มีอยู่ การตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนให้ใน 3 สาขาที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เช่น อากาศยาน ดูแลสุขภาพ และหุ่นยนต์อัตโนมัติ" นายฮิโรกิกล่าว
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ถือเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจทำให้ภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่นมีศักยภาพเป็นสำคัญส่วนหนึ่งในอีอีซีได้ ซึ่งช่วงเดือนพ.ย.นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่นมีกำหนดนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นเดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนด้วย