- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Thursday, 06 September 2018 14:02
- Hits: 2427
เลขาฯ EEC คาดออก TOR โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา 2 แสนลบ.แบบ PPP ไม่เกินต.ค.61 ได้ผู้ชนะประมูล ก.พ.62
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า หลังจากงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : เมืองการบินภาคตะวันออก (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) มูลค่า 2 แสนล้านบาท หรือ 6 พันล้านดอลลาร์ในวันนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในเดือนต.ค.61 และให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.62 จากนั้นจะประกาศผลการคัดเลือกได้ในช่วงประมาณเดือน ก.พ.62
สำหรับ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา คือ รูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของเอกชน ได้แก่ ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับท่าอากาศยาน, การลงทุนในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการ และดำเนินการและบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา ที่คาดว่าจะมีอายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี
แนวทางรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน แบบ PPP Net Cost เอกชนได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนทำให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง โดยเอกชนจะมีรายได้จากธุรกิจการบิน รายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันเอกชนจะจ่ายค่าเช่าที่ดินและส่วนแบ่งรายได้ ส่วนรัฐจะสนับสนุนการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และสิทธิประโยชน์อื่นๆ
"โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะแตกต่างจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่รัฐช่วยลงทุนงานโยธา แต่โครงการนี้เอกชนจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ภาครัฐ โดยอาจจะให้เอกชนลงทุน 100%ได้ อย่างไรก็ดี การลงทุนทางวิ่ง แห่งที่ 2(Runway 2) ระยะทาง 1,400 เมตร รัฐจะเป็นผู้ลงทุน"
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นผลในตอบแทนการทางการเงิน พบว่า อัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) ที่ 10-12% อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น 11-13% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการน่าจะมีผลตอบแทนที่น่าสนใจต่อการลงทุนของผู้ร่วมลงทุนเอกชน
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาถือเป็นโครงการสำคัญ 1 ใน 5 ของ EEC และจะเป็นโครงการที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดังนั้น จะเสร็จและเปิดให้บริการพร้อมกันในปี 66
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะเปิดกว้างนานาชาติ เป็น International Bidding และให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และคาดว่าจะได้รับความสนใจอย่างมากเช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีเอกชนให้ความสนใจ 7 ประเทศ 31 ราย
การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินโดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารเติบโตไปเป็น 20 ล้านคนในปี 2576 และเพิ่มเป็น 60 ล้านคนในปี 2591 จากปัจจุบัน ปีนี้มีประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งเพิ่มขีดตวามสามารถในการรองรับปริมาณสินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศ
ด้านนายโชคชัย ปัญญาวงศ์ รองเลขาธิการ EEC กล่าวว่า วันนี้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมในการทำ Market Sounding มากกว่า 200 คน ได้แก่ กลุ่มฝรั่งเศส, กลุ่มญี่ปุ่น, กลุ่มจีน และเกาหลี โดยวันนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : เมืองการบินภาคตะวันออก (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) เพื่อนำเสนอนโยบายและแผนงานต่างๆ รวมถึงรายละเอียดในการพัฒนาโครงการ รูปแบบในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตลอดจนข้อกำหนดสำคัญในร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนพร้อมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมสัมมนา
"โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญใน EEC ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ด้วยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งของโครการ จะช่วยผลักดันให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศ CLMV ยกระดับให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค และช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุนใน EEC ให้สำเร็จ" พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ด้าน พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้ง นำไปปรับปรุงร่างเอกสารสัญญาการร่วมลงทุน และร่างข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในการคัดเลือกและเจรจากับภาคเอกชนต่อไป
ทั้งนี้ จะมีงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) ครั้งที่ 3 ในช่วงปลายก.ย. หรือต้นต.ค. ก่อนที่จะออก TOR ในเดือน ต.ค.ต่อไป
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญมาก รัฐบาลมอง EEC เป็นกรุงเทพแห่งที่ 2 และเป็นประตูเข้าสู่อาเซียน ซึ่งจะต้องมีสนามบินที่จะเป็นหัวใจของ EEC และเรากำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำการบินในภูมิภาค
"ท่านนายกฯสั่งการให้ทำให้สำเร็จ เรามาบอกว่าเราเอาจริงเรื่องนี้ เราจะทำให้เสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพราะโครงการนี้เป็นหัวใจที่จะป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ฉะนั้น ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าซึ่งโครงการจะเดินหน้าต่อไปได้ในรัฐบาลถัดไป"นายกอบศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 2 แสนล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ของกองทัพเรือ ประกอบไปได้วย อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal 3 and Airport Facilities), ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway), พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (Cargo Village as a Free Trade Zone), กลุ่มอาคารคลังสินค้า (Air Cargo Terminals), ธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenace Repair and Overhual (MRO)Facilities)และ ศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรการบิน (Aviation Training Center)
อินโฟเควสท์