- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Sunday, 12 August 2018 18:06
- Hits: 3330
อุตตม'กล่อมญี่ปุ่น ยัน 'การเมือง'ไม่กระทบ'อีอีซี' สัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) Workshop
แนวหน้า : นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมได้เปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น(เจซีซี) และองค์การส่งเสริม การค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) จัดสัมมนา เพื่อเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ รูปแบบการลงทุน รายละเอียดพ.ร.บ. อีอีซี ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นประมาณ 100 รายต้องการข้อมูลและประสานผ่านเจซีซี และ เจโทร ขอให้มีการสัมมนาครั้งนี้
"นักลงทุนที่เข้าร่วมฟังข้อมูลเป็น กลุ่มสนใจจะลงทุนในอีอีซีจริง เป็นเรื่องที่ผมดีใจ เพราะเขาสนใจจริง ส่วนใหญ่จะกระจายในทุกกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมชีวภาพ ทั้งนี้ได้ยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นว่าโครงการลงทุนหลักในพื้นที่อีอีซีจะเดินหน้าตามแผนงานแม้ประเทศไทยจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ โดยหลังจากนี้หากมีนักลงทุนชาติอื่นสนใจรับฟังข้อมูลก็พร้อมให้ข้อมูลตรงเช่นกัน
ทั้งนี้ เจโทรได้เผยผลสำรวจระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง โดยแนวโน้มความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติครึ่งปีแรกปีนี้อยู่ระดับ 40 สูงสุดในรอบหลายปี ปรับเพิ่มจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ระดับ 36 และมั่นใจว่าผลจากอีอีซีจะทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอีก
นายอุตตม กล่าวว่า สำหรับการขยายพื้นที่จังหวัดอีอีซี จากปัจจุบันมี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เบื้องต้นมีเป้าหมายเพิ่มอีก 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และตราด คาดว่าจะศึกษาและจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ภายในปีนี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า นักลงทุนตั้งคำถามประมาณ 30 ข้อ โดยสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นสอบถามเข้ามามากที่สุด คือ บทบาทการทำงานระหว่างอีอีซี กับบีโอไอ ว่าต่างกันอย่างไร การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งอีอีซี ได้ชี้แจงว่าจะดูภาพรวมและส่งต่อให้บีโอไอเป็นผู้พิจารณาสิทธิประโยชน์ตามกิจการที่ลงทุน
"นอกจากนี้ มีนักลงทุนสอบถามถึงโอกาสในการได้รับสิทธิประโยชน์ลงทุนในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมใน อีอีซี อาทิ ค่ายรถยนต์โตโยต้าหากต้องการสิทธิประโยชน์เพราะมีพื้นที่ลงทุนอยู่แล้ว กรณีนี้ได้แนะนำว่าต้องมีการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมก่อน จึงจะเข้าเกณฑ์สิทธิประโยชน์ ตามพื้นที่ของอีอีซี"นายคณิศกล่าว
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ได้ชี้แจงสิทธิประโยชน์การลงทุนในส่วนของบีโอไอแก่นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดบีโอไอได้ออกประกาศสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมด้านบริการทางการแพทย์ อาทิ โรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์แพทย์แผนไทย ส่วนหนึ่งของกิจการทางการแพทย์ เพื่อให้สิทธิประโยชน์มีความครอบคลุม
มึนอีอีซี-BOI ทำงานทับซ้อน ญี่ปุ่นเชื่อมั่นลงทุนไทยพุ่ง สตาร์ทอัพเกิดใหม่เพียบ
ไทยโพสต์ : ราชดำริ * นักลงทุนญี่ปุ่นยังมึน การทำงานอีอีซี-บีโอไออาจทับซ้อน ด้าน ‘คณิศ’แจงเป็นการร่วมมือแบบบูรณาการ ฟุ้งเจโทรเผยความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่นสูงต่อเนื่อง’คลัง’ปลื้มสตาร์ทอัพเกิดใหม่ 1.7 พันราย
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยจากกรณีความกังวลใจของสื่อญี่ปุ่นที่รายงานถึงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อาจจะเป็นเรื่องที่เสียเปล่า ว่า จากการเข้าร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจที่จะลงทุนในอีอีซี ยังไม่มีนักลงทุนคนใดที่มี ความเคลือบแคลงใจในการดำ เนินงานของรัฐบาลไทยเพียง แต่ยังเกิดความสงสัยในบางข้อเท่านั้น
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นได้ ตั้งคำถามประมาณ 30 ข้อโดยสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นสอบ ถามเข้ามามากที่สุด คือ บท บาทการทำงานระหว่างอีอีซีกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าต่างกันอย่างไร รวมถึงการ ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งได้ ชี้แจงไปว่าหน่วยงานอีอีซีจะดูภาพรวมและส่งต่อให้บีโอไอเป็นผู้พิจารณาสิทธิประ โยชน์ตามกิจการที่ลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน การให้สิทธิ์ การทำงาน (สมาร์ทวีซ่า) ที่ส่งต่อไปยังบีโอไอ และการกำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ การให้เช่าอาคาร
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการอีอีซี ว่าเจโทรได้เผยผลสำรวจระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่น พบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติครึ่งปีแรกปีนี้อยู่ระดับ 40 สูงสุดในรอบหลายปี ปรับเพิ่มจากครึ่งปีหลัง 2560 ที่ระดับ 36 และมั่นใจว่าผลจากอีอีซีจะทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอีก
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ได้ชี้แจงสิทธิประ โยชน์การลงทุนในส่วนของบีโอไอแก่นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งล่า สุดบีโอไอได้ออกประกาศสิทธิ ประโยชน์เพิ่มเติมด้านบริการทางการแพทย์ อาทิ โรงพยา บาลเฉพาะทาง ศูนย์แพทย์แผนไทย ส่วนหนึ่งของกิจการทางการแพทย์ เพื่อให้สิทธิประโยชน์มีความครอบคลุม
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐ กิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ว่า ในเดือน ก.ค.2561 มีวิสาห กิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ-Startup) ที่ลงทะเบียนกับ http://startup thailand.org ของสำนักงานนวัต กรรมแห่งชาติ จำนวน 1.7 พันราย ขณะที่มีผู้ประกอบการวิสาห กิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (นิวสตาร์ทอัพ) ณ สิ้นเดือน ก.ค.2561 มียอดรวมของ SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำ นวน 155 ราย ได้รับการรับ รองจาก สวทช.แล้วจำนวน 100 ราย.
บอร์ด EEC รับทราบงานโครงสร้างพื้นฐานคืบ-ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น 122%
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่กำหนดไว้ 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) มีบริษัทเอกสนให้ความสนใจ 31 ราย จาก 7 ประเทศ ซึ่งจะจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 ก.ย.61, เปิดรับซองข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.61, ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอในเดือน ม.ค.62, ลงนามสัญญาร่วมทุนในเดือน ก.พ.62 และเปิดให้บริการในปลายปี 2566 นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในระยะที่ 2 (ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยอง จันทบุรี และตราด) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาและออกแบบโครงการฯ
2.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 ลงนาม MOU เช่าที่ดินในเดือน ส.ค.61, ประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนในเดือน ก.ย.61, ประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอในเดือน พ.ย.61, ลงนามสัญญาร่วมทุนในเดือน ธ.ค.61 และเปิดให้บริการในปี 2564
3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งที่ 4 ในเดือน ส.ค.61, ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือน ก.ย.61, กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ม.ค.62 และคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในเดือน ก.พ.62
4.โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งที่ 3 ในเดือน ส.ค.61, ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือน ต.ค.61, กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ธ.ค.61 และคัดเลือกเอกชนร่วมทุนในเดือน ก.พ.62
ที่ประชุมได้รับทราบสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.61) ที่มีจำนวน 142 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 122% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรับทราบประกาศสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ 11 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าความร่วมมือกับบริษัท Pearson เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 10 เป้าหมาย โดยผู้แทนของบริษัทได้ลงพื้นที่พบปะกับสถาบันอาชีวะในพื้นที่ EEC แล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนสำหรับโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd)
อินโฟเควสท์
สศอ.จัดสัมมนาชี้แจงข้อมูลการลงทุนใน EEC ให้นักลงทุนญี่ปุ่น ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระยะยาว
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Eastern Economic Corridor (EEC) Workshop ในวันนี้มีที่มาจากการที่ได้มีโอกาสพบกับประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ประธาน JETRO และคณะ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ รูปแบบการลงทุน และความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น JCC, JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้นเพื่อให้ข้อมูลสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ดีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน BOI, สำนักงาน EEC, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมสรรพากร มาตอบปัญหาในเชิงลึก และไขข้อข้องใจของนักธุรกิจญี่ปุ่นเกี่ยวกับการลงทุนในเขต EEC ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ขั้นตอนในการลงทุน ตลอดจนความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการ EEC เป็นการสร้างฐานความเจริญใหม่ที่มีศักยภาพสูง (New High Potential Growth Platform) ที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตแบบทั่วถึงทุกภาคส่วน (Inclusive Growth) ในรูปแบบ WIN-WIN ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในพื้นที่ EEC จำนวนกว่า 1,000 บริษัท ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย
นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว JCC และ JETRO ได้สำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อการลงทุนและทำธุรกิจในไทย พบว่า มีทิศทางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากระดับ 14 เป็น 30 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 36 ในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนปรับขึ้นมาเป็น 40 ในครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในเชิงพื้นที่ EEC รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยกำหนด Roadmap การพัฒนาและขับเคลื่อน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Priority Clusters) ครอบคลุมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นกำลังหลักของภาคอุตสาหกรรมของไทยในการพัฒนาและขับเคลื่อน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve Industry)
โดยขอยกตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก และ ครม.ให้ความเห็นชอบในมาตรการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยใช้ศักยภาพของไทยที่เป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหลักภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อระดับสากล เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ (Product) มาตรฐาน (Standard) และนวัตกรรม (Innovation) รองรับการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
โดยขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างเสนอมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า โดยบูรณาการทำงานร่วมกันกับกรมสรรพสามิต และ BOI เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต วิจัย และพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วน โดยผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์นี้
2.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ถือเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนการยกระดับสู่ Industry 4.0 โดยได้กำหนดแนวทางพัฒนาโดยใช้มาตรการขับเคลื่อนแบบผสมผสาน เน้นการส่งเสริมให้ SMEs ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตด้วยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และแก้ไขปัญหาเรื่องแรงแรงต่างด้าวได้อีกทางหนึ่งควบคู่กับการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม เช่น การจัดตั้ง Center of Robotics Excellence (CoRE) เพื่อพัฒนาต้นแบบ ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรโดยเฉพาะ System Integrators (SI) และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิต (Lean Automation System Integrators : LASI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ผ่านทางบริษัท DENSO
3.อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Industry) ซึ่งไทยมีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม อีกทั้งยังมีความพร้อมของฐานอุตสาหกรรมเดิมที่สามารถพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) นอกจากนี้ สศอ.กำลังดำเนินการในการนำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เป็นลำดับต่อไป
สำหรับ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ EEC และจะนำไปสู่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยรัฐบาลไทยพร้อมประสานกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวก รวมถึงดูแลผู้ประกอบการและนักลงทุนญี่ปุ่นด้วยมาตรการพิเศษที่เหมาะสมและโปร่งใส เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระยะยาวให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
อินโฟเควสท์
สมคิด อนุมัติบีโอไอ โยกคน จัดทีมดึงดูดเงินลงทุน กรอ.โอดยอดขอรง. 4 วูบ
ไทยโพสต์ : สามย่าน * 'สมคิด' สั่งบีโอไอจัดทัพใหม่โยกคนไปช่วยดึดดูดในประ เทศเป้าหมายเพิ่ม ชูไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนก่อนขายอีอีซีไฟเขียวให้ขอคนเพิ่มได้ทันที กรอ.โอดยอดขอ รง.4 เดือน ก.ค. หดตัว 5.9% ฉุดมูลค่าลงทุนลดลงเหลือ 3.04 หมื่นล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการทำงานแก่หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทั้ง 14 แห่ง ว่าปัจจุบันบีโอไอมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ 317 คน ขณะที่คำขอการลงทุนที่เข้ามาแต่ละปีกว่า 600,000-700,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่ายังเป็นปัญหาในการทำงานที่ทำให้ไม่คล่องตัว จึงสั่งการให้สามารถเกลี่ยบุคลากรเพื่อไปช่วยสนับสนุนงานในพื้นที่ที่ต้องการจะเน้นดึดดูดการลงทุนมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นเชิงรุก เน้นการให้ข้อมูลอย่างจริงจัง และหากต้องการคนเพิ่มให้เสนอเรื่องมาได้ทันที
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่บีโอไอทั้งหมดเน้นการให้ข้อมูลที่จะต่อยอดการลงทุนได้ ไม่ใช่แค่ชูเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ไทยกำลังส่งเสริม อย่างเช่น พื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ต้องฉายภาพให้เห็นว่าหากเข้ามาลงทุนในไทยแล้วจะสามารถเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้ เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของอาเซียน ก่อนที่จะขายเรื่องพื้นที่อีอีซี และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องการจะทราบ ดึงดูดให้นักลงทุนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐเห็นภาพประกอบการลงทุนในไทยที่มีความเชื่อมโยงไปสู่ลาว กัมพูชา เมียนมา เขมร ได้อย่างชัดเจนและผลักดันให้สำเร็จ
"ขณะนี้ถือเป็นโอกาสสำ คัญของไทยในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยแบบเชิงรุก โดยเฉพาะการใช้ลู่ ทางเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (วันเบลท์วันโรด) เป็นจุดเชื่อมโยงให้นักลงทุนสามารถกระจายการค้าการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ" นายสมคิดกล่าว
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ปัจจุบันบีโอไอมีบุคลากรทั้งสิ้น 317 คน เป็นพนักงานข้าราชการกว่า 100 คน ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังคน 78 คนภายใน 3 ปี ประกอบกับการเกลี่ยคนให้สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมาย เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการดำเนินภารกิจ
ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดขอใบอนุญาตกิจการและการขยายกิจ การ (รง.4) ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 383 โรงงาน ลดลง 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวนโรงงานที่ขอใบอนุญาตประกอบและขยายกิจการทั้งสิ้น 407 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 30,495.54 ล้านบาท ลดลง 23.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ทำได้ 39,914.73 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ 314 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 22,951.52 ล้านบาท กลุ่มขยายกิจการ 69 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 7,544.02 ล้านบาท
ทั้งนี้ สัดส่วนที่ลดลงอาจ เกิดจากภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกและภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่คาดว่าในช่วงเดือน ที่เหลือจะมีตัวเลขเพิ่มตัวสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มูลค่าการลงทุน 5,222.73 ล้านบาท 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่าการ ลงทุน 3,471.46 ล้านบาท 3.กลุ่ม ผลิตภัณฑ์จากพืช มูลค่าการลงทุน 1,954.77 ล้านบาท 4.กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 1,521.19 ล้านบาท 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มูล ค่าการลงทุน 1,240.86 ล้านบาท.
กลุ่มโรงไฟฟ้าเอสพีพี ห่วงการลงทุนใน EEC สะดุด เหตุ นลท.กังวลรัฐยังไม่ชัดเจนต่อสัญญา
กลุ่มโรงไฟฟ้าเอสพีพี ห่วงการลงทุนอีอีซีสะดุด หลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มแสดงความกังวลภาครัฐยังไม่ต่อสัญญาตาม มติ กพช. แนะรัฐควรเร่งดำเนินการให้ความชัดเจน
นายโชติ ชูสุวรรณ กรรมการเลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) โดยเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้นักลงทุนของบริษัทข้ามชาติมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานด้านไฟฟ้าและไอน้ำว่าจะมีเพียงพอรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่หรือไม่
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในด้านการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่จะสิ้นสุดลงระหว่างปี 60-68 แม้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจำหน่ายให้กับนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.59 แต่ผ่านมากว่าสองปีแล้วยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
"ความล่าช้านี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่ ซึ่งเป็นลูกค้าของ SPP จำนวน 25 รายที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาเป็นชุดแรก เพราะส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC โดยต่างกังวลว่าหากโรงไฟฟ้า SPP ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนดจะกระทบต่อความเสถียรและเสี่ยงต่อการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งการเกิดไฟฟ้าตกดับในกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง จะสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นในระบบผลิต"นายโชติ กล่าว
นายโชติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ SPP เองจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า 2-3 ปี เพราะด้วยกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หรือ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิม ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้า ทั้งการวางแผนก่อสร้าง ลงนามสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทดสอบระบบการผลิต จึงสามารถ COD (Commercial Operation Date) หรือ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้จริง
อีกทั้ง ผู้ประกอบการ SPP ยังได้ปรับตามเงื่อนไขของ กพช. โดยการปรับลดสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. จาก 90 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 30 เมกะวัตต์ต่อโรงไฟฟ้า และปรับลดราคาต่อหน่วย ดังนั้นภาครัฐควรมีความชัดเจนในรูปแบบของการต่ออายุโดยเร็วซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมที่จะสนองนโยบายเพื่อมีส่วนร่วมสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
อินโฟเควสท์