- Details
- Category: EEC เมกะโปรเจกต์
- Published: Sunday, 11 March 2018 07:55
- Hits: 5296
บอร์ด PPP ไฟเขียว ดึงเอกชนร่วมแจม 4 เมกะโปรเจ็กต์
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * บอร์ด PPP ไฟเขียวดึงเอกชนร่วมลงทุนอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมเข็นโครง การระบบขนส่งมวลชนโคราช วงเงิน 3.26 หมื่นล้านบาท คาด เข้า PPP Fast Track ปี 2561
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ ประภาศ ผู้อำนวยการสำนัก งานคณะกรรมการนโยบายรัฐ วิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจ การของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นประธาน เห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วม 4 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 32 ไร่ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ในรูปแบบสร้าง บริหาร โอน (BOT) ระยะเวลา 30 ปี และก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี มูลค่าการลงทุน 1.54 หมื่นล้านบาท
"การพัฒนาพื้นที่ดัง กล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่ บทพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมขนส่งพหลโยธิน ช่วยสนับสนุนให้เป็นย่านธุรกิจแห่งใหม่ด้านทิศเหนือของ กทม. อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และจะช่วยเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลัก (Non Core) และแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการเงินของ รฟท.ได้อีกด้วย" นายเอกนิติกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรม การ PPP ยังเห็นชอบโครงการขนาดกลาง ที่มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 5 พันล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่า 2.7 พันล้านบาท 2.โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุ คลองเตย ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 3.14 พันล้านบาท และ 3.โครง การจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแปลง ชบ.350 บริเวณสนามกอล์ฟ บางพระ ของกรมธนารักษ์ มูลค่า 1.53 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 จะมีโครงการลงทุนภายใต้มาตรการเร่งรัดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) นำเสนอคณะกรรมการ PPP จำนวน 3 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 4.06 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและตะวันออก, รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษกและโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ 8 หมื่นล้านบาท.
สคร. เผยมีแผนกู้เงินใช้ลงทุนสร้างทางด่วนรองรับ หากขายหน่วยลงทุน TFF อาจล่าช้า
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากศาลปกครองสูงสุด ภายหลังจากสหภาพแรงงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ให้ยุติการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้การขายหน่วยลงทุนล่าช้าจากแผนที่คาดการณ์ไว้
แต่ยืนยันว่า จะไม่กระทบกับแผนการใช้เงินเพื่อลงทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในโครงการก่อสร้างทางพิเศษ พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.43 หมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน เนื่องจากได้มีการพิจารณาแผนรองรับกรณีการขายหน่วยลงทุนของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ล่าช้าไว้แล้ว โดยเบื้องต้นจะให้มีการกู้เงินเพื่อมาลงทุนในโครงการก่อสร้างดังกล่าวก่อน และเมื่อสามารถเปิดขายหน่วยลงทุนได้ก็ให้นำเงินมาใช้คืนในส่วนนั้น ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะตามแผนการลงทุนของ กทพ. จะเริ่มใช้เงินในเดือน ส.ค.61
"เราประเมินเรื่องนี้เป็น 2 กรณี กรณีแรกหากศาลปกครองสูงสุดมีการพิจารณาทั้งหมดจบภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. นี้ ก็ยังมีเวลาที่จะยื่นไฟลิ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณา และเดินหน้าขายหน่วยลงทุนได้ตามแผน อีกกรณีถ้าการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีข้อสรุป ก็จะให้มีการกู้เงินใช้ไปพลางก่อน" นายเอกนิติ กล่าว
บอร์ด PPP เห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A, 3 โครงการขนาดกลาง รวมมูลค่า 2.2 หมื่นลบ.
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2561 ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พื้นที่พัฒนาได้ประมาณ 32 ไร่ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ในรูปแบบสร้าง – บริหาร – โอน (BOT) ระยะเวลาดำเนินธุรกิจ 30 ปี และระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาท ซี่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมขนส่งพหลโยธิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่บริเวณศูนย์คมนาคมขนส่งพหลโยธินเป็นศูนย์กลางการเดินทางและย่านธุรกิจแห่งใหม่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่แปลง A ยังช่วยเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลัก (Non Core) และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการเงินของ รฟท. ได้ด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดกลาง (วงเงินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท) จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 7,383 ล้านบาท โดยให้ไปดำเนินการดังนี้
1. ให้โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ)
2. ให้โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุคลองเตย ของบมจ. ทีโอที มูลค่าโครงการ 3,147 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 (ประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท)
3. ให้โครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ. 350 (บริเวณสนามกอล์ฟบางพระ) ของกรมธนารักษ์ มูลค่าโครงการ 1,536 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบให้เพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 32,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นของเมืองหลัก โดยขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ ทำให้โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 966,800 ล้านบาท โดยในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track นำเสนอคณะกรรมการ PPP จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 406,874 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและตะวันออก 195,642 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 131,172 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ 80,060 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value For Money: VFM) ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในการประเมิน ความคุ้มค่า และตัดสินใจระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกับภาครัฐดำเนินโครงการเองโดยการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด
อินโฟเควสท์