- Details
- Category: CAT-TOT
- Published: Sunday, 04 December 2016 20:27
- Hits: 5817
ไปรษณีย์ไทย จัดสร้างนิทรรศการ '9 พระราชปณิธาน สืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ'เปิดให้ประชาชนเข้าชมร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดนิทรรศการ’๙ พระราชปณิธาน สืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ’ มุ่งหวังให้คนไทยน้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต พร้อมเชื่อมโยงปณิธาน’ความเพียร’จากพระราชนิพนธ์’พระมหาชนก’บนแสตมป์ที่ระลึก 40 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–เวียดนาม และนิทรรศการ ‘แสตมป์นิทรรศน์เสน่ห์เวียดนามเหนือกาลเวลา’จัดแสดงไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่พิพิธภัณฑ์แสตมป์ สามเสนใน
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดตัวนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยถ่ายทอดพระราชปณิธานอันมาจากพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสต่าง ๆ ผ่านดวงแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับ’ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ภายใต้หัวข้อ ‘9 พระราชปณิธาน สืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ’ สำหรับพระราชปณิธานทั้งเก้าที่เลือกมานำเสนอ ได้แก่ 1. การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม 2. ความซื่อสัตย์สุจริต 3. ความกตัญญู 4. ความเพียร 5. การทำความดี 6. ความสามัคคี 7. การรักษามรดกความเป็นไทย 8. เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และ 9. เศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกิจกรรมเชิญชวน คนไทยร่วมเขียนแสดงเจตนารมณ์สืบทอดพระราชปณิธาน “ตามรอยพ่อ”
นางสมร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานยังมีมุม 'แสตมป์ในหลวงในดวงใจ' รวมคอลเลกชั่นแสตมป์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ชุดล้ำค่าที่หาชมได้ยาก จากนักสะสมแสตมป์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้เชื่อมโยงหนึ่งในพระราชปณิธานเรื่อง’ความเพียร’ จากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก โดยได้นำมาจัดทำเป็นตราไปรษณียากรที่ระลึก 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ซึ่งออกจำหน่ายไปเมื่อ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นภาพหุ่นกระบอกน้ำของเวียดนาม และหุ่นกระบอกไทยในเรื่องพระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อันเป็นที่มาของ การจัดนิทรรศการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในชื่อ’แสตมป์นิทรรศน์ เสน่ห์เวียดนามเหนือกาลเวลา’ภายใต้แนวคิด ‘เวียดเล่าไทยบอก’นำเสนอเรื่องราวของเวียดนามให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้นในหลากหลายมิติ ทั้งทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรม และภูมิประเทศ ผ่านดวงแสตมป์ของเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม นิทรรศการ '9 พระราชปณิธาน สืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ' และ นิทรรศการ 'แสตมป์นิทรรศน์ เสน่ห์เวียดนามเหนือกาลเวลา' จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ (เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา08.30 -16.30 น. ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน (BTS สะพานควาย) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2831 3722, 0 2271 2439 หรือทางเฟซบุ๊ก Thai Stamp Museum และไลน์ stampinlove นางสมร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจากนายเหวียน ตัด ถั่น เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับ นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยมีการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระมหาชนก จากพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทยด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 หรือเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th
9 พระราชปณิธาน...สืบสานผ่านแสตมป์ของพ่อ
# | ชื่อชุด | พระราชปณิธาน/พระบรมราโชวาท/พระราชดำรัส | วัน /เดือน /ปี |
1.
|
การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม แสตมป์ชุดที่ระลึกงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (ชุด 1) วันแรกจำหน่าย 9 มิถุนายน 2559
|
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
“...ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกระทำ พร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูลกัน...” |
พระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก วันที่ 8 มิถุนายน 2514 |
2. |
ความซื่อสัตย์ สุจริต แสตมป์ชุดที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วันแรกจำหน่าย 4 เมษายน 2525
|
“...ถ้าหากเราชาวไทยยังคงมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันโดยทั่วไป อย่างที่ได้ประจักษ์แก่ข้าพเจ้าในคราวไปเยือนจังหวัดต่างๆ นี้แล้ว ก็จะช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ประเทศชาติ ให้อยู่ในฐานะสามารถเผชิญเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหน้าได้ดี ฉะนั้น ขอให้ทุกฝ่ายจงตั้งจิตร่วมใจกันสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติยึดมั่นในอุดมคติที่จะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมเพื่อประเทศของเราจะได้เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป...” |
พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2499 วันที่ 31 ธันวาคม 2498
|
“...การที่จะประกอบกิจใดๆ ให้เจริญเป็นผลดีนั้นย่อมต้องอาศัยความอุตสาหะพากเพียร และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นรากฐานสำคัญ ประกอบกับจะต้องเป็นผู้มีจิตใจ เมตตากรุณาไม่เบียด เบียนผู้อื่น และพร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมตามโอกาสอีกด้วย...”
|
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่12 กรกฎาคม 2499 |
||
3. |
ความกตัญญูรู้คุณ แสตมป์ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (ชุด ) วันแรกจำหน่าย 10 กันยายน 2542
|
“...เราทั้งหลายทุกวันนี้จึงต้องระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษอยู่เสมอ และต้องถือเอาเป็นทั้งภาระและความรับผิดชอบ ที่จะรักษาจิตใจและคุณธรรมประจำชาติไทยนี้ไว้เป็นนิตย์ ทั้งจะต้องสืบทอดความคิดจิตใจนี้กันต่อไป มิให้ขาดสายด้วย จึงจะสามารถรักษาชาติและประเทศมิให้แตกทำลายสูญสลายไปได้...”
|
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ วันที่ 3 ธันวาคม 2521 |
“...ความกตัญญูกตเวทีคือสภาพจิตที่รับรู้ความดี และยินดีที่จะกระทำความดีโดยศรัทธามั่นใจ คนมีกตัญญูจึงไม่ลบล้างทำลายความดี และไม่ลบหลู่ผู้ที่ได้ทำความดีมาก่อน หากเพียรพยายามรักษาความดีทั้งปวงไว้ให้เป็นพื้นฐานในความประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของตนเอง เมื่อเต็มใจและจงใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความดีดังนี้ ก็ย่อมมีแต่ความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งสำหรับนักพัฒนาและผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าทุกคน...” |
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการวันกตัญญู กตเวที สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันกตัญญูกตเวที พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันที่ 8 เมษายน 2526 |
||
4. |
ความเพียร แสตมป์ชุดที่ระลึก 70 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม 2540
|
“...การทำงานใดไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะสำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆ จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็กลับเป็นพลังอย่างสำคัญที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้นการทำงานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว...” |
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 29 มิถุนายน 2522
|
“...ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้น พร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม...” |
พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 |
||
5. |
การทำความดี แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2552 วันแรกจำหน่าย 5 ธันวาคม 2552 |
“...การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว...”
|
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรีฯ โรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ วันที่ 10 มีนาคม 2529 |
“...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์มิได้...” |
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม 2506 |
||
6. |
ความสามัคคี แสตมป์ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (ชุด 1) วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม 2550 |
“...ความสามัคคีนั้น อาจหมายถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคม ย่อมต้องมีความขัดแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ หากมีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือ แต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปึกแผ่น...” |
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ วันที่ 29 ตุลาคม 2517
|
“...ความสามัคคี คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็งด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมนั่นคือความมั่นคงของบ้านเมือง...” |
พระราชดำรัสในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล วันที่ 15 มกราคม 2519
|
||
7. |
การรักษามรดกความเป็นไทย
แสตมป์ชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (ชุด 2) วันแรกจำหน่าย 10 กันยายน 2542
|
“...มรดกนี้ คำที่ถูกต้องคือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีตั้งแต่โบราณกาลสะสมเรื่อยมา ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เมืองไทยถึงยังอยู่ได้แต่ถ้าเราไม่ทำต่อ บารมีก็สลายไป เราอย่าไปเบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศไทยได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไปเราต้องทำบ้างหรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตแน่นอน...” |
พระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2517
|
“...ถึงอย่างไรความเป็นไทยนั้นก็เป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่มีค่าประดับโลกอยู่ ไม่ควรที่ใครจะละเลยทำลายเสีย เพราะจะทำให้สูญเสียสมบัติมีค่านั้นไป คนที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใดคนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ ทั้งทางวัตถุทางจริยธรรม และภูมิปัญญา...”
|
พระบรมราโชวาท พระราชทานสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการประชุมสามัญประจำปี ณ ห้องประชุมสมาพันธ์เยาวชนญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2537 | ||
8. |
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา แสตมป์ชุดที่ระลึกพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน วันแรกจำหน่าย 10 มกราคม 2555
|
“...การพัฒนาชนบท เป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือ ทั้งเฉลียวทั้งฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ...”
|
คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน วันที่ 13 มิถุนายน 2512
|
“...งานพัฒนาบ้านเมืองนั้น ต้องอาศัยบุคคลสองประเภท คือ นักวิชาการกับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการเป็นผู้วางโครงการ เป็นผู้นำชี้ทางเป็นที่ปรึกษาของผู้ปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัตินั้น เป็นผู้ลงมือลงแรงกระทำ งานจะได้ผลหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้ ถ้ามีความเข้าใจและร่วมงานกันก็ไม่มีอุปสรรค ได้ผลงานเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าไม่เข้าใจกันก็เกิดอุปสรรคล่าช้า ซึ่งมักปรากฏอยู่เสมอและจำเป็นจะต้องแก้ไข...” |
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วันที่16 กรกฎาคม 2513 |
||
9. |
เศรษฐกิจพอเพียง
แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันแรกจำหน่าย 17 กุมภาพันธ์ 2554
|
“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียงเลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…”
|
พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม 2540
|
“...เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สองอย่างจะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้ คำว่าพอเพียงมีความหมายว่าพอมีพอกัน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น...”
|
พระราชดำรัส พระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลขอเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2541 |