- Details
- Category: CAT-TOT
- Published: Thursday, 16 January 2020 11:29
- Hits: 1474
CAT ร่วมมือ TESA และ ม.พะเยา หนุนเด็กไทยประชันทักษะสมองกล
สร้างผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสังคมสูงวัย
CAT สนับสนุนการแข่งขันทักษะสมองกล “TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 14” เล็งผลักดันเยาวชนสายไอทีคอมพิวเตอร์เป็นบุคลากรรุ่นใหม่พัฒนาประเทศ เน้นสร้างประสบการณ์ทำงานบนโครงข่าย LoRaWAN หวังต่อยอดโซลูชันด้าน Smart City
บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ร่วมมือกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมด้วยเครือข่ายพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เปิดเวทีประชันทักษะด้านสมองกลระดับประเทศ “TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 5-11 มกราคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา โดยในปีนี้ได้มีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศส่งนิสิตนักศึกษารวม 183 คน จำนวน 37 ทีม ร่วมแข่งขันพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในโจทย์หัวข้อ “ระบบติดตามเฝ้าระวังและจัดการสุขภาวะแก่ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป”
ดร.วงกต วิจักขณ์สังข์สิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล CAT กล่าวว่าโจทย์ในปีนี้ สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย คือการประยุกต์ระบบสมองกลฝังตัวผนวกกับเทคโนโลยี IoTช่วยในการดูแลติดตามสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุตลอดจนระวังความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ในรูปแบบของอุปกรณ์ติดตัวบุคคล สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์ สภาพแวดล้อมมลภาวะแต่ละพื้นที่ เช่น กระแสลม หมอกควัน โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูงวัย หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นไปยังผู้ดูแลอย่างทันท่วงที
ผลงานเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาบริการด้านดิจิทัลที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้งานกับสมาร์ตซิตี้ซึ่งต้องอาศัยทักษะด้านสมองกลฝังตัว ทั้งนี้ ผู้เข้าแข่งขันต้องบูรณาการทักษะความรู้ต่างๆ ทั้งโปรแกรม Embeded การออกแบบพัฒนาฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ IoT และที่สำคัญคือสามารถบูรณาการใช้เครือข่ายไร้สายที่หลากหลาย เพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไอโอทีเหล่านี้
CAT ได้นำเทคโนโลยีระบบสื่อสารโครงข่าย LoRa ที่พัฒนาขึ้นสำหรับ IoT ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน TESA อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีในการสื่อสารข้อมูลของอุปกรณ์สมองกลต่างๆ ที่ผู้เข้าแข่งขันออกแบบ รวมทั้งเชื่อมต่อบนระบบคลาวด์ของ CAT เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวของทุกทีมที่เข้าแข่งขัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ทำงานจริงบนโครงสร้างพื้นฐานที่ CAT ใช้รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชัน IoT ทั่วประเทศในปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาโครงการสำคัญๆ ด้าน Smart City ของประเทศไทยในอนาคต โดยล่าสุด CAT ได้ขยายโครงข่าย LoRa เชื่อมต่อบนโครงข่ายพื้นฐานระบบคลาวด์ที่ CAT จัดสร้างรองรับการให้บริการคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเตรียมการประมวลผลด้าน Big Data ที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลจำนวนมหาศาลของหน่วยงานภาครัฐในวันข้างหน้า
ดร.วงกต กล่าวว่า หลังจากการแข่งขัน TESA CAT เชื่อมั่นว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำงานบนเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารของประเทศ และสามารถใช้ทักษะที่เกิดขึ้นจากเรียนรู้และการแข่งขันนี้มาประยุกต์กับการทำงานจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสร้างสรรค์เทคโนโลยีพัฒนาบริการดิจิทัลต่างๆ ให้ตอบโจทย์สอดคล้องกับสังคมไทยได้อย่างเหมาะสม โดยทีมชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ “ทีมขิงข่าตะไคร้ใบมะกรูด” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง สามารถตอบโจทย์ที่ครบถ้วนทั้งรายละเอียดด้านมุมมองของผู้ใช้งาน เช่น ความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่จะใช้ติดตั้งกับผู้สูงอายุ วิธีการแจ้งเตือนผู้สูงอายุ แจ้งเตือนคนในบ้าน ตลอดจนมุมของการต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาเป็นบริการ การกำหนดแพ็คเกจราคา ฯลฯ ขณะที่รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ “ทีมฉุนสมุนไพร” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง รองชนะเลิศอันดับ 2 “ทีมชุมนุมปืนบน” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองชนะเลิศอันดับ 3 ทีม “Type your Text” จากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ CAT ได้มอบรางวัลพิเศษให้กับ 2 ทีมที่สามารถส่งข้อมูล PM 2.5 ผ่านเครือข่าย LoRa มายัง Server ได้จำนวนข้อมูลสูงสุดคือ “ทีม BME Ranger” มหาวิทยาลัยมหิดล และ “ทีมไม่ต้องห่วงเพื่อนผมแบกเอง” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง โดยภายในงานยังจัดให้พื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ระหว่างภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาเพื่อปรับปรุงผลงานและสานต่อความร่วมมือในอนาคตอีกด้วย
AO1228
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web