- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Thursday, 07 July 2016 22:36
- Hits: 5719
บีโอไอ สร้างความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่น ในงาน Bangkok Nikkei Forum 2016 เตรียมเพิ่มเวลายกเว้นภาษี 13 ปี- ตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถแข่งขัน
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนญี่ปุ่น เลขาธิการบีโอไอเผยญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นประเทศไทยและเตรียมขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยกให้ญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ด้านการลงทุน พร้อมเผยข่าวดียกเว้นภาษีสูงสุด 13 ปี และตั้งกองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 ซึ่งมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 400 คน ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและแสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากตัวเลขยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงเป็นอันดับ 1 ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไทย ตลอดจนได้สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นักลงทุนญี่ปุ่นจึงถือเป็นมิตรแท้ด้านการลงทุนของประเทศไทยอย่างแท้จริง
วันนี้ รูปแบบการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญและมีฐานการผลิตที่เข้มแข็งในประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะก้าวไปสู่การผลิตที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีการต่อยอดเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งยังมุ่งไปสู่ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนกิจการเดิม การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) หรือการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอและประเทศไทย
ภายหลังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในปี2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่น ทั้งที่พบปะหารือในประเทศไทยและการนำคณะผู้บริหารระดับสูงไปพบปะที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ในปี 2558 มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวม โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านเยน มีโครงการการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 168 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการกลุ่มการบริการ เช่น กิจการบริการการค้าระหว่างประเทศ และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน รองลงมาคือ กิจการในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร และในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ
ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 121 โครงการ มูลค่า 20,850 ล้านบาท หรือประมาณ 62,550 ล้านเยน ซึ่งเป็นกิจการในกลุ่มบริการถึง 48 โครงการ โดยเป็นกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) รวม 39 โครงการ
เพิ่มเพดานยกเว้นภาษี 13 ปี
นางหิรัญญา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งจะมีการเพิ่มเพดานสิทธิประโยชน์ให้กับโครงการลงทุนที่มีคุณค่ากับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมสูงสุด 8 ปีเป็นสูงสุด 13 ปีภายใต้ พ.ร.บ.บีโอไอฉบับใหม่ และการตั้งกองทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมายและการประกาศใช้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ บีโอไอบีโอไอได้ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี 'ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS'คอยให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย และในช่วงปีที่ผ่านมาบีโอไอได้นำระบบ IT มาใช้เสริมการให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระการจัดเตรียมเอกสารของนักลงทุน มีความชัดเจนเรื่องกำหนดเวลา เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการ อาทิ การอำนวยสิทธิประโยชน์ด้านๆ เช่น การนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และการนำเข้าช่างฝีมือมาทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม สามารถจะใช้สิทธิประโยชน์ผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง การขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(e-tax) การรายงานผลการประกอบการตามขั้นตอน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดขั้นตอน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุน
บีโอไอเผยผลศึกษา 5 ประเทศตลาดใหม่ แนะทิศทางลงทุนมุ่งสร้างฐานผลิตในอนาคต
บีโอไอนำเสนอผลการศึกษาเชิงลึกกลุ่มประเทศตลาดใหม่ พบศรีลังกามีสิทธิตามกรอบเอฟทีเอ เป็นประตูสู่ตลาดเอเชียใต้ ด้านการลงทุนในยูกันดาและมองโกเลียเน้นกลุ่มเครื่องหนัง – โรงไฟฟ้า- เครื่องประดับ แนะนักลงทุนไทยมองโอกาสกลุ่มตลาดใหม่ที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผยถึงผลการศึกษา'โอกาสการลงทุนไทยในตลาดใหม่ : ศรีลังกา ยูกันดา โมซัมบิก อุซเบกิสถานและมองโกเลีย'ว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการศึกษาศักยภาพ และโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียกลาง เป็นกลุ่มประเทศหลักที่บีโอไอเล็งเห็นความสำคัญจากความน่าสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและแรงงานที่จะสร้างความได้เปรียบ ในการผลิตสินค้าและสร้างฐานการผลิตใหม่ให้นักลงทุนไทย
สำหรับ ผลการศึกษาที่บีโอไอนำมาเผยแพร่ครั้งนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกที่บีโอไอร่วมมือกับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังลงพื้นที่จริงสำรวจกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติ สภาวะทางธุรกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญยังได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรคจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนจนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ช่วยให้นักลงทุนทราบข้อมูลสำคัญ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนออกไปลงทุนจริง
“วันนี้นักลงทุนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาทิ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก บีโอไอจึงเห็นศักยภาพในกลุ่มประเทศตลาดใหม่นี้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เติบโตเร็ว มีความน่าสนใจให้เข้าไปลงทุน เชื่อว่าข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะสร้างโอกาสในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนไทยก็ต้องปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มตลาดใหม่ นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดเดิม” นายโชคดีกล่าว
สำหรับ ศรีลังกา ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2015 ได้มีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศศรีลังกา โดยส่วนใหญ่จะเป็น ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึง อาหารแปรรูป จากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยจะมีสาขายางสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า อาหารแปรรูป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์ เป็นต้น ที่สำคัญศรีลังกามีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)กับอินเดียและปากีสถาน รวมทั้งได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปและอเมริกา นักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และ จีเอสพี เหล่านี้ในการเข้าถึงตลาดได้สะดวกขึ้น
ยูกันดา ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2015 บริษัทไทยที่เข้าไปสร้างโรงงานเป็นบริษัทผลิตเครื่องสำอาง และจำหน่ายสินค้าปลีก ที่ตั้งของประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการกระจายสินค้าของทวีปแอฟริกา โอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนคือ การลงทุนในสาขาเครื่องหนัง เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมฟอกหนังไปถึงรองเท้า เข็มขัด กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์หนังสำหรับโรงแรม นอกจากนั้นยังมีโอกาสการลงทุนในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาทิ ปลากระป๋อง ไส้กรอก น้ำมันปลาเป็นต้น ที่สำคัญยูกันดาเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและอากาศสมบูรณ์ ทำให้ปลูกพืชบางชนิดได้ 2 ฤดู จึงเหมาะแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์
มองโกเลีย บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากพื้นที่ของประเทศมองโกเลียอุดมไปด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนัม ดีบุก ทังสเตน และทองคำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมนอกจากนี้ความหลากหลายในภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้มองโกเลียมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุน คือ การทำเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการศึกษา
โมซัมบิก เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมน้อย มีเขตชลประทานที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ราคาถูก แต่ขาดการ แปรรูปสินค้า นักลงทุนไทยจึงมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง
อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรหลัก ได้แก่ ผลไม้ ฝ้าย และถั่วต่าง ๆ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะส่งออกขั้นพื้นฐานโดยไม่มีการแปรรูป รัฐบาลของอุซเบกิสถาน จึงกำหนดนโยบายภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะการแปรรูปให้เป็น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น