- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Thursday, 16 June 2016 22:03
- Hits: 5423
บีโอไอเผย นักลงทุนขานรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยื่นขอส่งเสริม 211 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท
บีโอไอเผย นักลงทุนขานรับทิศทางส่งเสริมการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ช่วง 4 เดือนแรกปี 2559 มีคำขอรับส่งเสริม 211 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 70,954 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลมีจำนวนโครงการมากที่สุด 91 โครงการ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 20,829 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วน และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 กลุ่ม ว่า มีนักลงทุนแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวแล้วรวม 211 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 70,954 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งมีมูลค่า 111,660 ล้านบาท
"การส่งเสริมกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น บีโอไอทยอยออกประกาศมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 ถึงปัจจุบัน จึงทำให้นักลงทุนใช้เวลาในการตัดสินใจและเริ่มยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมูลค่าเงินลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกนี้ ทำให้เรามั่นใจว่า ช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าเงินลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะเป็นไปตามเป้าหมายมูลค่า 100,000 ล้านบาท" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 12 โครงการ เงินลงทุนรวม 14,188 ล้านบาท อาทิ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ชิ้นส่วนระบบเครื่องยนต์ กิจการผลิตรถปิคอัพ เป็นต้น
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุนรวม 12,400 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตเครื่องซักผ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ กิจการผลิตชิ้นส่วนหน้าจอ LCD การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 91 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,579 ล้านบาท อาทิ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กิจการศูนย์รวบรวมข้อมูล (Data Center)
การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 23 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,820 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ
นอกจากนี้ มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ 7 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,450 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตคอนแทคเลนส์ กิจการผลิตเลนส์แก้วตาเทียม การลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน 1 โครงการ เงินลงทุน 22 ล้านบาท โดยเป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้บนเครื่องบิน รวมถึงมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร 42 โครงการ เงินลงทุน 20,829 ล้านบาท เช่น กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร กิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ และการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 6 โครงการ เงินลงทุน 6,666 ล้านบาท เช่น กิจการศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม และกิจการโรงแรม
ขณะเดียวกัน บีโอไอก็มีนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเน้นให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่อุตสาหกรรมตั้งอยู่ โดยให้นักลงทุนมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยในพื้นที่ พัฒนาและยกระดับนักวิจัยหรือนักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้มีผู้ยื่นขอรับส่งเสริมตามนโยบายนี้แล้วจำนวน 11 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 17,808 ล้านบาท และยังมีนักลงทุนอีกหลายรายอยู่ระหว่างการหารือกับ บีโอไอเพื่อเตรียมยื่นขอรับส่งเสริมต่อไป
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากการจัดสัมมนาเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์ซึ่งบีโอไอร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า ทั้งเจซีซีและเจโทรได้ระบุว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะเป็นนโยบายที่น่าสนใจต่อบริษัทญี่ปุ่นอย่างมาก และพบว่ามีบริษัทญี่ปุ่นหลายรายได้ตัดสินใจลงทุนไปแล้ว