- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Sunday, 24 January 2016 18:40
- Hits: 3944
กลุ่มสตาร์ทอัพจีน'เล็งมาลงทุนในไทย'BOI'ระบุกิจการตรงอุตฯเป้าหมาย
แนวหน้า : นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบีโอไอ พร้อมด้วยคณะของนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งในโอกาสนี้ได้พบหารือร่วมกับนายว่าน กัง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน รวมถึงหารือกับผู้บริหารของ TUS Holdings Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทที่ จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว ที่ชื่อเสียงและเป็นมหาวิทยาลัย ชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ของจีนและเอเชีย รวมถึงประสบความสำเร็จ ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ (Start up) เริ่มการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
ทั้งนี้ แนวทางของ TUS Holding จะใช้รูปแบบของ การเข้าไปให้บริการและสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือมีผลงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดย TUS Holding จะเข้าไปร่วมลงทุน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ในระยะเริ่มต้น
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของ TUS Holding และประสบความสำเร็จแล้วกว่า 300 ราย ในจำนวน ดังกล่าวมีมากกว่า 20% เป็นการริเริ่มธุรกิจของนักศึกษาที่นำผลงาน วิจัยของตนเองไปพัฒนา และมีผู้ประกอบการถึง 25 ราย ที่ประสบความสำเร็จจนเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ได้ในที่สุด
"แนวทางสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพของจีนมีความน่าสนใจ และเป็นการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้น โดยใช้ระบบของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมอยู่แล้วเข้ามาช่วย ทั้งในด้านการให้ความรู้ บุคลากรให้คำปรึกษา แม้กระทั่งการช่วยหาแหล่ง สนับสนุนทางด้านเงินทุน ซึ่งมหาวิทยาลัยไทย ก็มีความสามารถที่จะดำเนินการได้ ดังนั้นบีโอไอและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำมาเป็นแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริม กลุ่มสตาร์ทอัพของไทยต่อไป" นางหิรัญญา กล่าว
สำหรับ การหารือในครั้งนี้ พบว่า มีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของ TUS Holding และเป็นกิจการที่มีความพร้อมที่จะออกไปลงทุนใน ต่างประเทศมี 7 ราย และแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เร็วๆ นี้ แม้จะเป็นกิจการที่มีขนาดเงินลงทุนไม่สูงมาก แต่เป็นกิจการที่น่าสนใจและตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ผู้ประกอบการด้านการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาด การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร การผลิตผงโลหะด้วยการใช้เทคโนโลยีนาโน และการให้บริการด้านกิจการสนับสนุนการลงทุน เป็นต้น
นางหิรัญญา กล่าวว่า คณะจากไทยที่เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ยังได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งถนนนวัตกรรมใหม่ (Innovation Street) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ จง กวน ชุน โดยจะเป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจ ได้มีโอกาสค้นหาข้อมูลธุรกิจที่สำคัญ รวมถึงการพบปะผู้ร่วมทุนได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันพบว่าประสบความสำเร็จ มีผู้ใช้บริการและจัดตั้งธุรกิจ จนสำเร็จแล้วเกือบ 700 ราย และที่ผ่านมาเป็นแหล่งระดมเงินทุน รวมแล้วกว่า 1,900 ล้านหยวน อีกด้วย