- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Saturday, 23 January 2016 17:06
- Hits: 5043
โครงการลงทุนจากต่างประเทศจ่อลงทุนเกือบ 5 แสนล้านบาท บริษัทชั้นนำทั้งรายเดิมและรายใหม่เดินหน้าลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
บีโอไอ เผยสถิติอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่าเงินลงทุน 493,690 ล้านบาท คาดเริ่มเดินหน้าลงทุนภายใน 1-2 ปีข้างหน้า และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการส่งออกมูลค่ากว่า 962,000 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 414,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจบริษัทชั้นนำของโลกเดินหน้าตั้งฐาน การผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการอนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI: Foreign Direct Investment) ในปี 2558 ที่ผ่านมาว่า มีจำนวนโครงการได้รับการอนุมัติจำนวน 1,151 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 493,690 ล้านบาท เป็นโครงการขยายการลงทุนของบริษัทที่ลงทุนในไทยแล้ว จำนวน 592 โครงการ มูลค่า 328,433 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนที่มีฐานการผลิตในไทยแล้ว มีความมั่นใจในการขยายการผลิตในไทยต่อไป ขณะที่โครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ก็ยังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง มีจำนวน 559 โครงการ มูลค่า 165,257 ล้านบาท ซึ่งจำนวนโครงการของนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนมูลค่าเงินลงทุนแตกต่างกัน โดยมูลค่าการลงทุนในโครงการขยายสูงกว่าโครงการใหม่นั้นชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนประสบความสำเร็จในการลงทุนจึงเกิดความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในมูลค่าที่สูงกว่าโครงการแรก
"บีโอไอ คาดว่า โครงการที่ได้รับอนุมัติไปในปีที่ผ่านมา จะสามารถลงทุนจริงได้ภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งอาจมีหลายโครงการที่จะลงทุนเร็วกว่าแผนเดิม ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอ และหากดำเนินการได้ทั้งหมดจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน ได้แก่ สร้างรายได้สู่ประเทศจากการส่งออกปีละ 962,174 ล้านบาท จะเกิดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ มูลค่า 414,651 ล้านบาทต่อปี" เลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับ โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมในปีที่ผ่านมา มีโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 74 โครงการ โดยกระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร เป็นต้น
ตัวอย่างโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ได้แก่ โครงการในกลุ่มผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ มีจำนวน 6โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 53,000 ล้านบาท โครงการผลิตยางรถยนต์และยางสำหรับอากาศยาน จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท โครงการผลิตเครื่องปรับอากาศมีจำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท โครงการผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์มีจำนวน 2 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 14,000 ล้านบาท โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ไส้กรองอากาศที่มีความละเอียดสูง ชุดเกียร์อัตโนมัติ และชิ้นส่วนโลหะ มีจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 21,000 ล้านบาท โครงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 8 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 29,000 ล้านบาท เป็นต้น
การลงทุนจากต่างประเทศในไทย ในปี 2559 น่าจะมีแนวโน้มดีกว่าปี 2558 จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ที่ออกมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วหลายรายมีแผนจะขยายการลงทุน ขณะเดียวกัน บีโอไอก็มีแผนจะเดินทางไปชักจูงการลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อชักชวนให้บริษัทชั้นนำรายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะมุ่งเน้นดึงดูดบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมทางการแพทย์ หุ่นยนต์ ดิจิทัล รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย เช่น เกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว และสิ่งทอ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยเราเข้มแข็งอยู่แล้ว ก็จะเน้นดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากยิ่งขึ้น