- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Saturday, 04 April 2015 22:18
- Hits: 3408
กำหนด 13 กิจการลงเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี
แนวหน้า : กำหนด 13 กิจการลงเขตเศรษฐกิจพิเศษ-ยกเว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี นายกฯตั้งเป้า BOI 1.4 ลล.
ที่ประชุมบีโอไอ ตั้งเป้าหมายอนุมัติส่งเสริมการลงทุนปี’58 ไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท คาดเม็ดเงินเริ่มไหลเข้าระบบกลางปีนี้ หลังไตรมาสแรกเคาะไปแล้ว 700 โครงการ ขณะเดียวกัน เคาะ 13 กิจการเป้าหมาย ลงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเสียในอัตรา 50% ต่ออีก 5 ปี ส่วนเกณฑ์บีโอไอใหม่ในพื้นที่ทั่วไป ผ่อนผันให้ใช้เครื่องจักรเก่าอายุ 10 ปีได้
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมอนุมัติเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนปีนี้ไว้ว่าจะอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนใหม่รวม 1,600 โครงการ มูลค่ารวม 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ คณะกรรมการบีโอไออนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 700 โครงการ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 300 โครงการ มูลค่ากว่า 110,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจากการลงทุนเหล่านี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่กลางปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า บวกกับเงินจากโครงการลงทุนที่ได้อนุมัติให้การส่งเสริมไปเมื่อปีที่แล้วอีก 700,000 ล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินลงทุนอีกกว่า 800,000 ล้านบาท จะเริ่มเดินหน้าลงทุนกลางปีนี้ และเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไปอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การตั้งสำนักงานภูมิภาคก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ขณะนี้เหลือเพียงรอการประกาศการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกระทรวงการคลังเท่านั้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบเรื่อง การกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเห็นชอบกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม ครอบคลุม 61 กิจการย่อย ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการเกษตร ประมงและกิจการที่เกี่ยวข้อง (2) การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ (3) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง (4) การผลิตเครื่องเรือน (5) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (6) การผลิตเครื่องมือแพทย์ (7) อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน (8) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (9) การผลิตพลาสติก (10) การผลิตยา (11) กิจการโลจิสติกส์ (12) นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม (13) กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว
สำหรับ กิจการเป้าหมายที่จะให้ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เขต ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด และจังหวัดสงขลาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพ ข้อจำกัดและความต้องการของแต่ละพื้นที่ ส่วนสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่ลงทุนในกิจการเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี
ทั้งนี้ กิจการประเภทอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมาย ก็สามารถยื่นขอรับส่งเสริมเพื่อเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ตามปกติ ซึ่งแม้จะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ากิจการเป้าหมาย 13 กลุ่ม แต่ก็จะได้สิทธิประโยชน์สูงกว่าการลงทุนในพื้นที่ทั่วไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ และมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนปรนเรื่องการกำหนดอายุของเครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่จะนำมาใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่กำหนดไว้ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี เป็นอนุญาตให้โครงการที่ขอรับส่งเสริมสามารถใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศที่อายุไม่เกิน 10 ปี ยกเว้นกรณีการย้ายฐานการผลิตจากบริษัทในเครือเข้ามาลงทุนในไทย จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรที่อายุเกิน 10 ปีได้ แต่ทั้งสองกรณีจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรใดๆ และจะต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรจากสถาบันที่เชื่อถือได้ และมีรายงานการปรับปรุงซ่อมแซมพร้อมการรับรอง รวมทั้งมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความปลอดภัยและการใช้พลังงานที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
นอกจากนี้ ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 10 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 28,541.7 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัทมิลล์คอน สเปเชี่ยล สตีล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเหล็กลวด (STEEL WIRE ROD) กำลังผลิตปีละประมาณ 650,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,515 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง 2.บริษัท เทยิ่น เอฟอาร์เอ ไทร์ คอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตผ้าใบไทร์คอร์ด (TIRE CORD FABAIC) กำลังการผลิตปีละประมาณ 16,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,130 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3.บริษัท แมกน่า ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป กำลังผลิตปีละประมาณ 9,870,400 ชิ้น และชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 10,368,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,665.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง 4.บริษัท โยโรซึ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 8,059,400 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,520 ล้านาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง 5.บริษัท ฮิตาชิ ออโตโมทีฟ ซิสเท็มส์ เอเชีย จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 8,316,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา 6.บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังผลิตปีละประมาณ 18,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,246.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง
7.บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิต SODIUM POLYACRYLATE หรือสารดูดซับของเหลวสำหรับการผลิตผ้าอ้อม กำลังผลิตปีละประมาณ 50,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,793 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง 8.บริษัท โกลบอลกรีนโฮลดิ้ง จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,015 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสงขลา 9.บริษัท ปรินทร จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ขนาดพื้นที่ 40 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,520 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตบางนา กรุงเทพฯ 10.บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร เอเชีย จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้า ขนาด 110 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 15 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,137 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา