WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บอร์ดบีโอไอ อนุมัตินัดแรกปี 58 มูลค่าลงทุนรวมกว่า 77,000 ล้าน พร้อมเปิดทางนักลงทุนรายเดิมลงทุนเพิ่มสร้างขีดความสามารถแข่งขัน

   นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ นัดแรกของปี 2558 โดยพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมลงทุนแก่กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 2557 รวม 23 โครงการ เงินลงทุนกว่า 77,228 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบให้นักลงทุนรายเดิมที่เคยได้รับส่งเสริม สามารถขอรับส่งเสริมเพิ่มเติมได้หากลงทุนเพิ่มในด้านพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน อาทิ วิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมขั้นสูง

   นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 23 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 77,228 ล้านบาท ประกอบด้วย

                1.บริษัท ลา ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ประเภท STONEWARE โดยใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในประเทศแถบทวีปยุโรป กำลังผลิตปีละประมาณ 12,000,000 ชิ้น เงินลงทุน 2,386 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดลำพูน

                2.บริษัท สปาร์คเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ เช่น METAL SHELL กำลังผลิตปีละประมาณ 129,276,000 ชิ้น และชิ้นส่วนพาหนะ เช่น SPARK PLUG กำลังผลิตปีละประมาณ 118,800,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี

                3.Mr.FUSASHI OBORA ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ (AUTOMATIC TRANSMISSION) กำลังผลิตปีละ 235,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,248.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

                4.บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตสิ่งพิมพ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน และถุงพิมพ์ลวดลาย เป็นต้น กำลังผลิตปีละประมาณ 7,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสมุทรสาคร

กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-ขยะ-ชีวมวล เงินลงทุนรวม 30,916.9 ล้านบาท ได้แก่

                โครงการที่ 5 ถึง 12 เป็นของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิตรวม 448.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,265.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 โครงการ จังหวัดสงขลา 1 โครงการ และตั้งในจังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ

                13.บริษัท กลุ่ม 15 จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,251 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม

                14. บริษัท เคทิส ชีวพลังงาน จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) เงินลงทุนทั้งสิ้น 960 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 195 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดสุโขทัย

                15. บริษัท ลพบุรี ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 510 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดลพบุรี

กิจการขนส่งทางอากาศ มูลค่ารวม 34,876.8 ล้านบาท ประกอบด้วย

                16. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ อาทิ ขนส่งผู้โดยสาร ส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,007 ล้านบาท โดยการเช่าเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส

                โครงการที่ 17 ถึง 20 เป็นของบริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ รวม 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,034 ล้านบาท เป็นการเช่าเครื่องบินใหม่แบบ Boeing B-737-900 ER รวมจำนวน 14 ลำ

                21. บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอย์ท สต๊อค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า เครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ แบบ Airbus A 320 ความจุผู้โดยสารลำละ 180 ที่นั่ง แบ่งเป็นเครื่องบินเก่า จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินใหม่ จำนวน 3 ลำ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,325.8 ล้านบาท

                22.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 2 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,338.7 ล้านบาท

                23.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า เครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 1 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,171.3 ล้านบาท

เปิดทางรายเดิมลงทุนเพิ่มความสามารถแข่งขัน

       นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่บีโอไอได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) สิ้นสุดลงด้วย ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นว่าเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเห็นชอบให้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริม หรือยื่นขอรับส่งเสริมก่อนมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายใหม่เพิ่มเติมได้ หากมีการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมขั้นสูงแก่บุคลกากร เป็นต้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!