- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Thursday, 25 December 2014 23:31
- Hits: 4012
บีโอไอ ปลื้มยอดคำขอส่งเสริมลงทุนปี 57 มูลค่า 1 ล้านลบ.สูงทะลุเป้า
นางหิรัญ สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ยอดคำขอการลงทุนในปีนี้ที่มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าตั้งเป้าไว้ 8 แสนล้านบาท และได้มีการอนุมัติโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 1,569 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 7 แสนกว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ทางบีโอไอจะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลักษณะธุรกิจที่มีคุณภาพ ซึ่งจากคำขอปีนี้ถือว่า มีไม่น้อย 60 % ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มพลังงาน ชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีอยากให้สามารถจัดตั้งได้ใน 1 ด่านก่อน โดยเรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า และผลักดันให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน และอาจจะสิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป
บีโอไอ อนุมัติให้การส่งเสริม 13 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นลบ.
นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุน รวม 13 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 21,153.7ล้านบาท
ประกอบด้วย 1. บริษัท ลพบุรีไบโอเอทานอล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเอทานอล 99.5% เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,340 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 120 ล้านลิตร ตั้งโครงการที่จังหวัดลพบุรี โดยโครงการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ กากน้ำตาล อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สำหรับเอทานอลจากโครงการนี้จะจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานในประเทศ
2. นายอภิชาต นุชประยูร ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเอทานอล 99.5% เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,240 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 135 ล้านลิตร ตั้งโครงการที่จังหวัดสุโขทัย โดยโครงการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ กากน้ำตาล อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สำหรับเอทานอลจากโครงการนี้จะจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานในประเทศ
3. บริษัท ฟิวเจอร์ ฟูเอล จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเอทานอล 99.5% เงินลงทุนทั้งสิ้น 988 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 73 ล้านลิตร ตั้งโครงการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ กากน้ำตาล และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สำหรับเอทานอลจากโครงการนี้จะจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานในประเทศ
4. บริษัท บ้านไร่พลังงาน จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเอทานอล 99.5% เงินลงทุนทั้งสิ้น 988 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 73 ล้านลิตร ตั้งโครงการที่จังหวัดอุทัยธานีโดยโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศ ได้แก่ กากน้ำตาล และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ สำหรับเอทานอลจากโครงการนี้จะจำหน่ายให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานในประเทศ
5. บริษัท อาซาฮี คาเซอิ สปันบอนด์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิต NON-WOVEN FABRIC เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,037.8 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 26,000 ตัน ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะช่วยลดการนำเข้า NON-WOVEN FABRIC จากต่างประเทศ และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูปซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องของ NON-WOVEN FABRIC
6. บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์สำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลระยะที่ 2 หรืออีโคคาร์ 2 เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,913.9 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 75,000 เครื่อง ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะมีการลงทุนใช้เครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัย มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการใช้วัตถุดิบในประเทศปีละกว่า 260 ล้านบาท และเป็นการพัฒนาให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศมีความเข้มแข็งและก้าวไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
7. บริษัท เจเทคโตะ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,840 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 73 ล้านชิ้น ตั้งโครงการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยโครงการนี้เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยเครื่องจักรใหม่แบบอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์
8. บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตยางยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 5 ล้านเส้น ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบยางในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล
9. บริษัท สไตโรลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตเม็ดพลาสติก ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) และ SAN (Styrene Acrylonitrile) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และของใช้ในครัวเรือน เงินลงทุนทั้งสิ้น 890 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 60,000 ตัน ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง
10. บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ 9.4 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนจากขยะ ซึ่งจะใช้วัตถุดิบ เช่น ขยะจากบ่อฝังกลบ และขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย นำมาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงสำเร็จรูป รวมทั้งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564)
11. บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 26 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,316 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชัยภูมิ โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน โดยจะใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อย รวมทั้งมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564)
ส่วนโครงการที่ 12. และ 13. บริษัท ไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล โดยทั้งสองโครงการตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการที่ 1 เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 210 ตันต่อชั่วโมง โครงการที่ 2 เงินลงทุน 900 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 200 ตันต่อชั่วโมง โดยทั้งสองโครงการจะใช้วัตถุดิบจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ กากอ้อย มูลค่าปีละกว่า 370 ล้านบาท เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าในภาคเกษตรกรรม เป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน
อินโฟเควสท์