- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Monday, 08 June 2020 17:40
- Hits: 5528
BOI มาตรการบีโอไอ สำหรับ SMEs
บีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งได้มีการปรับปรุงมาตรการ และเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้เข้าถึงมาตรการได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดเงื่อนไขของมาตรการ SMEs ดังนี้
1) ต้องมีรายได้ของกิจการ ทั้งกิจการที่ได้บีโอไอและไม่ได้บีโอไอ ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท ใน 3 ปีแรก
2) คนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51
3) เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 500,000 บาท
4) เครื่องจักรเก่าใช้แล้ว อนุญาตให้ใช้ได้ในมูลค่า ไม่เกิน 10 ล้านบาท
5) ครอบคลุมกิจการกว่า 300 ประเภทกิจการ
สำหรับสิทธิประโยชน์ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กิจการประเภทกลุ่ม A 200% ของเงินลงทุน ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบ
สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม กรณีลงทุนในนิคม/เขตอุตสาหกรรม โดยจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี เป็นต้น
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ตามรายละเอียดของประกาศตามลิงก์ที่แนบมา
https://www.boi.go.th/upload/content/4_2563_5e6f2210776a0.pdf
มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
1. ประเภทกิจการในกลุ่ม A และ B1 ของบัญชีท้ายประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 (ยกเว้นประเภท 7.23.1 กิจการโรงแรมโดยกำหนดเงื่อนไขต้องมีจำนวนห้องพักไม่น้อยกว่า 50 ห้อง แต่ไม่เกิน 99 ห้อง และต้องมีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อห้อง)
เงื่อนไข
- ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
- ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน
- ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 ต่อ 1
- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้มีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยจะคำนวณราคาเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศโดยใช้มูลค่าตามบัญชี และต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการ
- เมื่อรวมกิจการทั้งหมดทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมแล้วผู้ขอรับการส่งเสริมต้องมีรายได้ของกิจการรวมกันแล้วไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีแรก นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
สิทธิและประโยชน์
- ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
- ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับประเภทกิจการในกลุ่ม A เป็นสัดส่วนร้อยละ 200 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
- สิทธิและประโยชน์อื่นให้ได้รับตามหลักเกณฑ์ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557
2. สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives)
2.1 สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน
เงื่อนไข
- มีการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการดำเนินการเองหรือการว่าจ้างผู้อื่นในประเทศหรือการร่วมวิจัยและพัฒนากับองค์กรในต่างประเทศให้คำนวณเป็นสัดส่วนร้อยละ 300 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย หรือ
- มีการสนับสนุนกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากร สถาบันการศึกษาศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง สถาบันวิจัยและหน่วยงานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ ให้คำนวณเป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย หรือ- มีค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิเทคโนโลยีที่พัฒนาจากแหล่งในประเทศ ให้คำนวณเป็นสัดส่วนเป็นร้อยละ 200 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย หรือ- มีการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ให้คำนวณเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย หรือ- มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ทั้งการดำเนินการเองหรือการว่าจ้างผู้อื่นในประเทศตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ ให้คำนวณเป็นสัดส่วนร้อยละ 200 ของการลงทุนหรือค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ รายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด
สิทธิและประโยชน์
- หากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรกให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 13 ปี
- หากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรก ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 13 ปี
- หากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดขายรวมใน 3 ปีแรกให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 13 ปี
2.2 สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
เงื่อนไข
ตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ กาพสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
สิทธิและประโยชน์
- ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม อีก 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้ หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 หรือ A2 ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่สิ้นสุดสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.3 สิทธิและประโยชน์เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม
เงื่อนไข
ตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม (รายชื่อนิคมอุตสาหกรรม)
สิทธิและประโยชน์
- ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภท กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม
2.4 สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ)
เงื่อนไข
ตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) (คู่มือการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ)
สิทธิและประโยชน์
- ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วนร้อยละ 200 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เพิ่มเติมจากสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
การขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ
1) สำหรับประเภทกิจการในกลุ่ม A สามารถขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการพร้อมกับการยื่นคำขอรับการส่งเสริม หรือภายหลังจากที่ได้รับการส่งเสริมแล้วก็ได้
ในกรณีที่ยื่นเรื่องภายหลังจากที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมสามารถขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้นแล้วหรือไม่ โดยในวันที่ยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม ต้องมีสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 เหลืออยู่ ทั้งระยะเวลาและวงเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2) สำหรับประเภทกิจการในกลุ่ม B1 สามารถขอรับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ พร้อมกับการยื่นคำขอรับการส่งเสริมเท่านั้น เว้นแต่เป็นกิจการที่มีเงื่อนไขระบุไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนว่าไม่ให้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์นี้
มาตรการนี้มีผลใช้บังคับกับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2564
- ตรวจสอบประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริม: คู่มือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน
- ยื่นขอรับการส่งเสริมผ่านระบบออนไลน์: ระบบสนับสนุนงานส่งเสริมการลงทุน (e-Investment Promotion)
- ตรวจสอบติดตามสถานภาพเอกสาร: ระบบตรวจสอบสถานภาพเอกสารทาง INTERNET (Doc Tracking)
- อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการสนับสนุน ความช่วยเหลือ และการส่งเสริม SMEs โดยภาครัฐในปัจจุบัน และเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่ส่งเสริมด้าน SME ใน SME ONE
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
******************************************
กด Like - Share เพจCorehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ