- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Tuesday, 14 April 2020 18:25
- Hits: 2736
บอร์ดบีโอไอเคาะมาตรการชุดใหญ่ ช่วยรับมือ-บรรเทาผลกระทบโควิด-19
บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการเร่งรัดลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บอร์ดได้อนุมัติมาตรการหลายประการ ทั้งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วสนองต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชนในประเทศ และมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการเร่งรัดให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อรับมือกับ COVID-19
มาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ประกอบด้วย
(1) มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งปกติจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี อยู่แล้ว เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 และต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564
(2) มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 และยื่นขอแก้ไขโครงการภายในเดือนกันยายน 2563
(3) การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร ให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กิจการผลิต Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็น 5 ปี
มาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหลายรายไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ภายในกรอบเวลาที่คณะกรรมการกำหนดได้ บอร์ดจึงเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยผ่อนปรนเงื่อนไขและพิจารณาขยายเวลาการดำเนินการสำหรับกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรและเปิดดำเนินการ การขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสำนักงานจะออกประกาศแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป
เร่งสนับสนุนภาคเอกชนให้ลงทุนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง และการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย และต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2564
ทั้งนี้ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน หรือให้ได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี
ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และประเภทกิจการเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และเกษตรสมัยใหม่
นอกจากนั้น บอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้ขยายขอบข่ายการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาให้ครอบคลุมประเภทกิจการอื่นๆเพิ่มเติม ได้แก่ ประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ทำการวิจัยและพัฒนา ประเภทกิจการที่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงขึ้นเมื่อมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงประเภทกิจการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในกิจการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขของประเภทกิจการให้ครอบคลุมถึงกิจการที่ไม่มีการออกแบบระบบและซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์ม โดยผู้พัฒนาในประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
อนุมัติมิตซูบิชิลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าการลงทุนรวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิตรวม 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles - BEV) ประมาณ 9,500 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) ประมาณ 29,500 คันต่อปี โดยจะเริ่มผลิตประมาณปี 2566 และจะมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนด้วย
บีโอไอ เผยคำขอส่งเสริมไตรมาสแรกกว่า 7 หมื่นล้าน
บีโอไอ เผยคำขอส่งเสริมไตรมาสแรกกว่า 7 หมื่นล้าน จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อีอีซียังเนื้อหอม
บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วงไตรมาสแรกปี 2563 รวม 378 โครงการ มูลค่า 71,380 ล้านบาท ต่างชาติลงทุนไทย 27,425 ล้านบาท นำโดยญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ยอดลงทุนในอีอีซี 47,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า บีโอไอได้รายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 3 เดือนของปี 2563 (มกราคม-มีนาคม) โดยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 378 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 368 โครงการ ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 71,380 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 128,460 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,620 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5,690 ล้านบาท และยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 2,400 ล้านบาท
สำหรับ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมรวม 27,425 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,402 ล้านบาท อันดับ 2 คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,510 ล้านบาท และอันดับ 3 ฮ่องกง มีมูลค่าเงินลงทุน 3,458 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 47,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอีอีซียังเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web