- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Friday, 03 October 2014 23:08
- Hits: 4347
นายกฯ สั่ง บีโอไอ ร่างหลักเกณฑ์ส่งเสริม 'ดิจิตอล อิโคโนมี'คาดสรุปต้น พ.ย.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)ในวันนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปจัดทำหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนในด้าน Digital Economy รวมทั้งให้วางแผนส่งเสริมการลงทุนเจาะลึกในแต่ละภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น อุตสาหกรรมยางพารา
"นายกฯ อยากให้มีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น เพราะปัจจุบันใช้ยางในประเทศเพียง 14% แต่ส่งออกถึง 86%"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ไปดูเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ต่อภาค SMEs เบื้องต้นคาดว่าจะเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมทั้งหามาตรการส่งเสริมคนไทยไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะมองว่าฐานการผลิตของไทยมีความพร้อมสำหรับการลงทุนในต่างประเทศแล้ว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนโยบายที่ได้รับมอบหมายทั้งหมดทาง BOI จะไปจัดทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้น พ.ย.นี้
จับตา บอร์ดบีโอไอพิจารณาอนุมัติ 20 โครงการ กว่า8หมื่นลบ. มั่นใจ ยอดส่งเสริมลงทุนปีนี้ตามเป้า 7 แสนลบ. หลัง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.57) แตะ4.16แสนลบ.
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงประเด็นการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ (บอร์ดบีโอไอ) ในวันศุกร์ที่ 3 ต.ค.ว่า เรื่องสำคัญที่จะนำขึ้นหารือในที่ประชุมบอร์ดบีโอไอจะเป็นเรื่องการอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะมีประมาณ 20 โครงการ ในจำนวนนี้จะมีโครงการรถยนต์อีโคคาร์ 2 จำนวน 4-5 บริษัทรถยนต์ โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการลงทุนกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทำให้สามารถอนุมัติโครงการค้างท่อไปได้กว่า 4 แสนล้านบาท จากจำนวนทั้งหมดกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะต้องประชุมอีก 2-3 ครั้ง จึงจะสามารถสะสางโครงการค้างท่อได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ จะมีการหารือในเรื่องของยุทธศาสตร์ของบีโอไอฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2558 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมาบอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบในหลักการ และได้ให้ไปเพิ่มเติมข้อมูลในบางประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนใน 20 จังหวัด ที่เข้าข่ายพื้นที่ยากจน ซึ่งจะเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ส่วนยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าปี 2557 จะถึงเป้าหมายที่วางไว้ 7 แสนล้านบาท โดยช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.2557) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 886 โครงการ เงินลงทุนรวม 416,500 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับลดลง 27.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 1,225 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลง 38.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 673,900 ล้านบาท แสดงถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนก่อนหน้าที่มีอัตราลดลงมากกว่า โดยจำนวนโครงการในช่วง 7 เดือนลดลง 30.3% ส่วนมูลค่าเงินลงทุนลดลง 41.4%
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับความสนใจขอรับส่งเสริมช่วง 8 เดือน คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 181 โครงการ เงินลงทุน 190,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค 260 โครงการ เงินลงทุน 108,000 ล้านบาท อันดับสาม กลุ่มเคมี กระดาษ และพลาสติก 93 โครงการ เงินลงทุน 45,100 ล้านบาท อันดับสี่ กลุ่มกิจการเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร 135 โครงการ เงินลงทุน 28,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บีโอไอได้ออกประกาศ "มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต" เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการอยู่แล้วปัจจุบัน ทั้งกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับส่งเสริมลงทุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา รวมถึงการออกแบบวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพผลิต
ประกาศดังกล่าว ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัย และออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย