- Details
- Category: บีโอไอ
- Published: Tuesday, 20 November 2018 20:33
- Hits: 7808
BOI คาดยอดส่งเสริมการลงทุนปีนี้แตะ 7.2 แสนลบ.ตามเป้า
BOI เผย 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ มูลค่า 3.77 แสนลบ. พบกลุ่มอุตฯ เป้าหมาย และ EEC ยอดพุ่งกระฉูด ส่วนทั้งปีคาดยอดส่งเสริมแตะ 7.2 แสนลบ.ตามเป้า พร้อมเคาะแผนอนุมัติส่งเสริมลงทุน 3 โครงการ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และ เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ PTT
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ BOI ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.61) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 1,125 โครงการ เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเงินลงทุนทั้งสิ้น 377,054 ล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อนที่ 373,908 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากแยกเป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 69% มีถึง 525 โครงการ เงินลงทุนรวม 290,482 ล้านบาท จากปี 60 มีมูลค่า 171,584 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์ การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัล ตามลำดับ
ส่วนการขอรับส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)มีจำนวน 288 โครงการ โต 13% และมีมูลค่าเงินลงทุน 230,554 ล้านบาท โต 117%
ทั้งปี 2561 ทาง BOI คาดการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามเป้า 7.2 แสนลบ. ส่วนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดจะมีเงินลงทุนถึง 3 แสนลบ.
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 21,774.6 ล้านบาท เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประกอบด้วย
1.บริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,693 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา เป็นการลงทุนของกลุ่มบริษัท โปรเจนกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกรายใหญ่ที่ขยายฐานการผลิตจากเดิมที่มีโรงงานผลิต 5 แห่งในประเทศจีน มูลค่ารวมประมาณ 13,702 ล้านบาทต่อปี
2.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) เงินลงทุนทั้งสิ้น 11,481.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 19,461 ล้านบาทต่อปี
3. บมจ.ปตท.(PTT) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ARIPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร 2.BIOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และ 3.SPACE INNOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ
Click Donate Support Web