WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เฮ! เพิ่มสิทธิภาษีบีโอไอ คลังเสนอพื้นที่เขต ศก.พิเศษโซนยากจนสูงสุด 11 ปี

     บ้านเมือง : คลัง เล็งอัพสิทธิประโยชน์ภาษีบีโอไอสูงสุด 11 ปี ในพื้นที่เขตศก.พิเศษ 5 และโซนยากจน ชูสิทธิพิเศษเงินกู้ซอฟต์โลน บสย.ค่ำประกัน-ยกเว้นค่าธรรมเนียมตั้งโรงงาน รอชงที่ประชุม กนพ. เคาะต้น ก.ย.นี้ ด้าน ส.อ.ท. อ้อนขอสิทธิตามเขตเศรษฐกิจภาคใต้จูงใจนักลงทุนมากกว่า ขณะที่การประเมินรายได้ ในกรณีนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ คาดมีรายได้จากภาษี กว่า 4 หมื่นล้านบาท

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ ขอบเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน ได้สรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตและจัดหาพื้นที่ สิทธิประโยชน์ และแผนพัฒนาระบบบริการเบ็ดเสร็จ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ภายในต้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเสนอเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนบีโอไอที่จะปรับใหม่ เป็นรายอุตสาหกรรม 3,5,8 ปี โดยให้สิทธิประโยชน์พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามพื้นที่โซนยากจน และเพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นๆ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ซอฟต์โลน มีบสย.ค้ำประกัน

   ขณะที่ แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยด้วยว่า มาตรการด้านการคลัง ในส่วนของด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนใหม่ จะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ดังนั้น ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ภาษีจากบีโอไอตามเขตพื้นที่ จะปรับเป็นสิทธิประโยชน์เป็นตามรายกิจการ หรืออุตสาหกรรม ระยะเวลา 3,5,8 ปี โดยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไฮเทคมากๆ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดนาน 8 ปี

    ทั้งนี้ หากเข้าข่ายอยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ในโซนพื้นที่ยากจนหรือมีรายได้ต่อหัวต่ำ จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้อีก 3 ปี (สูงสุดระยะเวลา 8+3ปี) และถ้าไม่อยู่ในโซนพื้นที่ยากจนจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ 2 ปี (สูงสุดระยะเวลา 8+2 ปี) โดยสิทธิประโยชน์ที่เกินจากสิทธิประโยชน์บีโอไอระยะเวลาสูง 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเพียง 50% เท่านั้น

    นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะยังมีมาตรการด้านการเงินเพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าไปอีก เช่น การสนับสนุนเงินกู้ซอฟต์โลน จากสถาบันการเงินภาครัฐหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ บสย.ค้ำประกัน, การยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดตั้งโรงงาน ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ดังกล่าว จะเปิดกว้างให้ทุกประเภทอุตสาหกรรมที่เป็นไปตามเงื่อนไขของบีโอไอ

    ด้าน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกำลังให้บีโอไอกลับไปพิจารณา ถ้าใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือไม่ แต่ทางบีโอไอ เห็นว่าควรจะใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนตามเขตเศรษฐกิจภาคใต้ที่จะปรับใหม่ ตามประกาศกระทรวงการคลัง จะจูงใจนักลงทุนมากกว่า เพราะหากจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ต้องเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคและตามประกาศกระทรวงการคลัง จะจูงใจนักลงทุนมากกว่า เพราะหากจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ต้องเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคและในพื้นที่ยาก ไม่คุ้มค่าต่อลงทุน ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้สิทธิประโยชน์บีโอไอส่วนใหญ่แค่ 3, 5 ปี เท่านั้น คงต้องรอแผนที่กระทรวงการคลังเสนอที่ประชุม กนพ. ก่อน

    ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ทำรายได้ภาษีให้กับรัฐบาลท้องถิ่นรวมปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี แต่หากนำกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มาใช้ โดยจัดเก็บอัตราภาษี เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราตามเพดานที่กฎหมายกำหนด จะทำให้รัฐบาลท้องถิ่น มีรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านบาท/ปี

   ทั้งนี้ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะนำมาใช้แทนที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ ถือเป็นกฎหมายที่ คสช. ให้ความสำคัญ เพราะ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

   สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ จะเป็นการปรับปรุงจากร่างเดิมที่กระทรวงการคลัง เคยยกร่างมากแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยจะกำหนดเพดานภาษีตามกฎหมายให้สูงขึ้น เพื่อรองรับในอนาคตที่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวมากกว่าปัจจุบัน หากกำหนดเพดานในกฎหมายหลัก ในอัตราที่ต่ำไป ในอนาคตเมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษี ก็จะต้องเสียเวลาในการยกร่าง เพื่อให้สภาอนุมัติ โดยเพดานภาษีใหม่อาจกำหนดให้ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย และที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตรา ไม่เกิน 0.5%, ส่วนที่ดินเชิงพาณิชย์ในอัตราไม่เกิน 1% และที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 2%

   สำหรับ เพดานภาษี ตามร่างเดิมที่เคยเสนอไว้นั้น กำหนดอัตราภาษีตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศย จะจัดเก็บไม่เกิน 0.1% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.05% และอัตราทั่วไป หรืออัตราที่จัดเก็บกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบธุรกิจ จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5%

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!