องค์กรของสหประชาชาติ (UNEP และ UNU-IHDP) ได้ออกดัชนีวัดความมั่งคั่งของประเทศที่เรียกว่า Inclusive Wealth Index (IWI) ซึ่งหวังให้ทุกประเทศนำไปใช้แทนการวัดความมั่งคั่งของประเทศด้วย GDP (Gross Domestic Product ซึ่งคำนึงแต่ผลผลิตทางเศรษฐกิจ และละเลยปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอันมีผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชากร) โดยได้นำเสนอดัชนีนี้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (RIO+20)
IWI เป็นดัชนีที่นำปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ (GDP) สังคม (social capital) และสิ่งแวดล้อม (Natural Capital ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ประมง แร่ธาตุ เชื้อเพลิง และที่ดิน) รวมถึงทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital เช่น สุขภาพ การจ้างงาน ค่าจ้าง/เงินเดือน อัตราการตาย และการศึกษา) มาคำนวณเป็นค่าดัชนีเพื่อวัดความมั่งคั่งของประเทศ โดยพบว่า ในช่วงของการศึกษา (1990-2008) GDP ของจีนเพิ่มขึ้น 422% แต่หากคำนวณตาม IWI จะมีอัตราการเติบโตเพียง 45%
ในเบื้องต้น UNEP และ UNU-IHDP ได้คำนวณ IWI ในช่วงปี 1990-2008 ของ 20 ประเทศซึ่งมีประชากรรวม 56% ของโลก และมี GDP รวม 72% ของโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย บราซิล อินเดีย เยอรมัน ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพบว่าสหรัฐฯเป็นประเทศที่มี IWI สูงที่สุด (117 ล้านล้านดอลล่าร์) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น (55 ล้านล้านดอลล่าร์) และจีน (19 ล้านล้าน ดอลล่าร์)
|