- Details
- Category: USA
- Published: Sunday, 30 April 2017 22:40
- Hits: 4415
ทรัมป์ เตรียมลงนามคำสั่งทบทวนข้อตกลงการค้ากับทุกประเทศ
วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิย์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีในวันเสาร์นี้ เพื่อสั่งการให้เจ้าหน้าที่การค้าทบทวนข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และข้อตกลงด้านการลงทุนทั้งหมดของสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่าข้อตกลงเหล่านี้เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐและแรงงานชาวอเมริกันจริงหรือไม่
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีข้อตกลงการค้าเสรีกับ 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก และข้อตกลงการลงทุนระดับทวิภาคี 42 ฉบับ
นายรอสส์กล่าวในการแถลงข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐจะรับผิดชอบในการทบทวนข้อตกลงการค้าและการลงทุน และจะรายงานผลการตรวจสอบภายใน 180 วัน แต่หากพบการค้าที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส ทางคณะบริหารของสหรัฐจะลงมือดำเนินการโดยไม่รอถึง 180 วัน โดยอาจเรียกเก็บภาษีสูงขึ้น หรือใช้มาตรการลงโทษอื่นๆ กับคู่ค้าของสหรัฐ
นอกจากนี้ สหรัฐจะพิจารณาตรวจสอบด้วยว่า กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)เป็นธรรมต่อสหรัฐอเมริกาและแรงงานชาวอเมริกันหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เผยว่า เขาเตรียมที่จะยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา ร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโก แต่ได้กลับลำไม่ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวในเวลานี้ หลังจากที่เขาได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำของสองประเทศ โดยคำสั่งที่ทรัมป์จะเซ็นในวันเสาร์นี้ตามเวลาสหรัฐ จะตรวจสอบผลกระทบของนาฟตาที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
อินโฟเควสท์
สหรัฐยืนยันจีน-ญี่ปุ่นไม่ปั่นค่าเงิน แต่ยังอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา
กระทรวงการคลังสหรัฐได้แถลงรายงานรอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสว่า ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ใช่กลุ่มประเทศที่ปั่นค่าเงิน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ประเทศยังคงอยู่ในรายชื่อที่สหรัฐจับตาดูอย่างใกล้ชิด
นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐยังคงจับตาการดำเนินนโยบายค่าเงินของประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ อย่างใกล้ชิด พร้อมระบุว่า สำหรับสหรัฐแล้ว การจะเพิ่มมูลค่าทางการค้าอย่างมีเสรีและเป็นธรรมนั้น ประเทศคู่ค้าของสหรัฐก็ควรจะหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายอย่างไม่เป็นธรรม และสหรัฐจะจับตาดูสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ในรายงาน’นโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ’ ที่กระทรวงการคลังได้ยื่นต่อสภาคองเกรสนั้น ระบุว่า การที่จีนยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) นั้น เนื่องจากสหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับจีนในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ ในปี 2559 จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงสุดถึง 3.47 แสนล้านดอลลาร์ รองลงมาคือญี่ปุ่น 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ เยอรมนี 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเม็กซิโก 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนอีกหลายๆประเทศในเอเชียก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐเช่นเดียวกัน โดยเวียดนามเกินดุล 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์
รายงานของกระทรวงการคลังมีความสอดคล้องกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีท เจอร์นัลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า จีนไม่ได้เป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน และการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามากเกินไปในขณะนี้ อาจเป็นเพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในตัวเขา ท้ายที่สุดแล้ว การแข็งค่ามากเกินไปของดอลลาร์จะไม่เป็นผลดี
ที่ประชุม IMF-ธนาคารโลกชี้ ภาวะการเมืองชี้วัดเศรษฐกิจโลก พร้อมต่อต้าน นโยบายเศรษฐกิจที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ที่ประชุมร่วมฤดูใบไม้ผลิระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกประจำปี 2560 ได้กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความตึงเครียดระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในระดับกลางอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะเดินรอยตามปณิธานเดิม นั่นคือการหลีกเลี่ยงการบิดเบือนค่าเงินเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเอง แต่มิได้กล่าวถึงการต่อต้านการกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในปณิธานที่ตั้งไวในการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ที่ประชุมได้เลือกใช้คำว่า “นโยบายเศรษฐกิจที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก" แทน
“เราจะหลีกเลี่ยงการบิดเบียนค่าเงินเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และจะร่วมมือกันเพื่อลดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกด้วยการออกนโยบายที่เหมาะสม...และจะหลีกเลี่ยงนโยบายที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมดุลทางการเงินของโลก" แถลงการณ์ร่วมระบุ
นายออกัสติน คาร์สเทนส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเม็กซิโกกล่าวต่อสื่อมวลชลภายหลังว่า คำว่า “การกีดกันทางการค้า" นั้นค่อนข้างกำกวม และไม่มีประเทศใดที่ไม่มีการกำหนดกฎระเบียบใดๆทางด้านการค้า อีกทั้งที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะต่อต้าน “นโยบายเศรษฐกิจที่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก" และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางการค้าอย่างยุติธรรม
ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF ได้กล่าวภายหลังเช่นกันว่า นโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่วนรวมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์