- Details
- Category: SINGAPORE
- Published: Thursday, 26 March 2015 08:42
- Hits: 9627
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 11:15 น. ข่าวสดออนไลน์
อ่านมุมมอง'ลีกวนยู' สร้างสิงคโปร์-เสริมอาเซียน
ข่าวสดอาเซียน
ลีกวนยู ผู้นำคนแรกของสิงคโปร์ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวันที่ 23 มี.ค. ขณะอายุ 91 ปีหลังจากอาการทรุดลงเรื่อยๆ ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประชาชนสิงคโปร์ต่างหลั่งไหลไปวางดอกไม้ไว้อาลัยให้รัฐบุรุษของประเทศที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ เยเนอรัล หลายคนร้องไห้ด้วยความอาลัย
นายลี เซียนลุง บุตรชายนายลีกวนยู และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน ประกาศไว้ทุกข์เป็นเวลา 7 วัน และจะมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 29 มี.ค.
ลีกวนยูได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสิงคโปร์ มีบทบาทสำคัญด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ
เป็นผู้ก่อตั้งพรรคกิจประชาชน หรือ พีเอพี (People"s Action Party) เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภากว่าสามทศวรรษ นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อสิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 2508 ทำให้นายลีมีอำนาจเกือบจะเด็ดขาดที่จะพัฒนาสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพียงประเทศเกาะขนาดเล็ก ทรัพยากรมีจำกัด มีปัญหาความหลายหลายทางเชื้อชาติ
เว็บไซต์เดอะดิโพลแมต และอีสต์เอเชีย ฟอรัม สรุปบทบาท และมุมมองต่อโลกของนายลีกวนยู รัฐบุรุษสิงคโปร์ ว่าเป็นผู้นำความเจริญมาสู่สิงคโปร์แบบก้าวกระโดด
ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนแรกและครองตำแหน่งยาวนานที่สุดของสิงคโปร์ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสหลังเกษียณจากตำแหน่งนายกฯ ในเดือนพ.ย.ปี 2533 และรัฐมนตรีที่ปรึกษาตั้งแต่ส.ค. 2547- พ.ค. 2554
หลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ในปี 2533 โก๊ะ จ๊กตง คนสนิทดำรงตำแหน่งสืบทอดแนวคิดต่อจากนายลี และจากนั้นอำนาจหวนกลับคืนสู่ครอบครัวลีอีกครั้ง ในปี 2547 นายลี เซียนลุง บุตรชาย นายลีกวนยูดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในด้านสิทธิเสรีภาพ นายลีคงได้คะแนนไม่ดีนัก เพราะสกัดพลังของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย คอมมิวนิสต์ อย่างเด็ดขาด โดยอนุญาตให้กักขังศัตรูทางการเมืองได้อย่างไม่จำกัดโดยปราศจากการไต่สวน ควบคุมสื่อทั้งหมด จำกัดการแสดงออกของประชาชน ควบคุมทุกด้านของสังคมอย่างเข้มงวด
แต่ชาวสิงคโปร์ชื่นชอบการเล่นเมืองแบบนายลี เพราะนายลีมีภาพลักษณ์เฉลียวฉลาด ซื่อสัตย์
ลีกวนยูตระหนักดีว่าประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์ต้องมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า ทัดเทียม หรือแซงหน้าประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อความอยู่รอดและสร้างอำนาจให้แก่สิงคโปร์ จึงมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี
ประกอบกับการเมืองสิงคโปร์มีเสถียรภาพสูง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชากรกระโดดไปอยู่ระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และดำเนินหลักประชานิยม ให้ความสำคัญของการจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างมาก
แม้พื้นที่ของสิงคโปร์จะมีจำกัด แต่นายลีสามารถจัดสรรที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคให้กับคนสิงคโปร์ได้อย่างดี จนคุณภาพชีวิตชาวสิงคโปร์ติดอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเมืองน่าอยู่เมืองหนึ่งของโลก
สำหรับนโยบายการต่างประเทศ ผู้สนใจเรื่องนี้มักไม่พลาดฟังสุนทรพจน์ของนายลี
นายลีเล็งเห็นความจำเป็นของรัฐเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ที่จะจัดเตรียมสัมพันธภาพกับประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อประกันเอกราชของสิงคโปร์เอง และสร้างอิทธิพล อย่างอ้อมๆ ด้วย
ขณะเดียวกันเห็นความเป็นไปได้และข้อจำกัดขององค์การระหว่างประเทศ และยอม รับด้วยว่าสิงคโปร์จำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมองค์การดังกล่าวเพื่อให้ได้รับการยอมรับและมองโลกตามสภาพจริงเกี่ยวกับความสามารถขององค์การดังกล่าวที่จะคุ้มครองและสนับ สนุนผลประโยชน์ของชาติสมาชิก เมื่อมีความพยายามจากชาติมหาอำนาจที่จะแบ่งแยกและอุปถัมภ์ค้ำชูองค์การเหล่านั้น
นายลีย้ำเสมอว่าสิงคโปร์จำเป็นจะต้องฉลาดเฉียบแหลม ว่องไวและตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลงหรือการเปลี่ยนดุลอำนาจ ทำให้ฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่าอยู่ข้างสิงคโปร์
รัฐบุรุษของสิงคโปร์มีความสามารถที่จะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศและบทบาทมหาอำนาจในระบบการเมืองโลก เช่น เพิ่มความสัมพันธ์กับสหรัฐเมื่อสหราชอาณาจักรไม่สามารถพึ่งพาได้อีกต่อไป หรือเนื่องจากการทะยานขึ้นของจีน
ผู้นำรุ่นที่สองอย่างโก๊ะ จ๊กตง ได้รับคำปรึกษาจากลีอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาอาหารกลางวัน
"มื้อกลางวันเป็นเรื่องที่จริงจังเสมอ มันเกี่ยวกับการเมืองตลอด อย่างเช่นอะไรกำลังจะเกิดในภูมิภาคบ้าง และเหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อสิงคโปร์อย่างไร" นายโก๊ะกล่าว
ขณะเดียวกัน ลีกวนยู มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการกำหนด เป้าหมาย ปรัชญา อุดมการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง โดยเสนอค่านิยมประชาธิปไตยวิถีเอเชีย (Asian Values) ซึ่งนายลีเห็นว่าประชาธิปไตยแบบเสรีเป็นแนวคิดแบบ ตะวันตก ไม่เหมาะสมกับประเทศในเอเชีย เพราะสังคม วัฒนธรรม ภูมิประเทศ ต่างกัน
หลังจากสิงคโปร์ได้รับเอกราชเพียง 2 ปี อาเซียนก็ก่อตั้งขึ้น นายลีกวนยูตระหนัก ถึงความอยู่รอดของสิงคโปร์และข้อจำกัด ด้านทรัพยากรของประเทศ จึงเข้าร่วม เป็นสมาชิกอาเซียน
เมื่อปี 2543 นายลีกล่าวที่ออสเตรเลียว่า สมาชิกอาเซียนจะต้องรวมบูรณาการตลาดด้วยกันเพื่อแข่งขันกับจีนซึ่งเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 7-9 ต่อปี
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ในเมื่อจีนจะเป็น ผู้เล่นที่น่าเกรงขามมากในภูมิภาค การรวมกันของเศรษฐกิจชาติเอเชียตะวันออกอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อาเซียน จะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุลได้ ดังนั้น บทบาทสหรัฐคือผู้ปรับสมดุลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ