WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต.กัมพูชา ผู้บริหารตลาดทุนรุ่นใหม่ มองไกล-เรียนลัดแต่ขอโตอย่างมั่นคง

 

เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตด้วยภาคการผลิตและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอัตรา 7% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ได้กำหนดทิศทางความก้าวหน้าของเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ

กัมพูชาเป็นหนึ่งในสมาชิก CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของอาเซียน ที่ประกอบไปด้วย 10 ประเทศสมาชิก คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจาก CLMV ถือเป็น Young Economy ที่เศรษฐกิจเริ่มพัฒนาได้ไม่นานนัก แต่กัมพูชามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยขยายตัวเฉลี่ยในอัตราไม่ต่ำกว่า 7% นับตั้งแต่ปี 2537-2558 แม้ปี 2559 จะขยายตัวเพียง 6.9% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และในปี 2560 นี้ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชายังคงเติบโตในอัตรา7%

ในช่วงปี 2537-2558 กัมพูชาเติบโตด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาคการผลิต (Real Sector) และ Service Industry เป็นหลัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออก แต่ในระยะหลังกัมพูชาได้เปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการเปิดเสรีการลงทุนอย่างเต็มที่แทบจะไม่มีข้อจำกัด ยกเว้นการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียวที่นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้รับสิทธิ

ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้กัมพูชาได้หันมาพัฒนาทางด้านการเงินมากขึ้น โดยได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับแรก (Financial Sector Development Strategy 2006-2015) ขึ้นเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. (Securities and Exchange Commission of Cambodia: SECC) ขึ้นในปี 2551 และ 2 ปีต่อมามีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (Cambodia Securities Exchange: CSX) โดยตลาดหลักทรัพย์เปิดการซื้อขายเป็นครั้งแรกในปี 2555

ปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับที่ 2 (Financial Sector Development Strategy 2559-2568) ครอบคลุมทั้งภาคธนาคาร ประกันภัย และตลาดทุน โดยในส่วนของตลาดทุนนั้นจัดทำโดย SECC และจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (Ministry of Economy and Finance: MEF)

นอกเหนือจากการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว กัมพูชายังได้ส่งเสริมผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาจากต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของประเทศอีกด้วย

 
Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต. (Director General) กัมพูชา

ผู้บริหารรุ่นใหม่ดีกรีนักเรียนนอก

       “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ได้สัมภาษณ์ Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต. (Director General) กัมพูชา หนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในการวางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแนวทางการพัฒนาตลาดทุนเพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

       Sou Socheat เล่าประวัติตัวเองว่า เป็นคนจังหวัดพระตะบอง ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา แต่ก็ไม่เคยมีโอกาสเดินทางข้ามาฝั่งไทยเลย ในช่วงเด็กเล่าเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมที่บ้านเกิดก่อนจะมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง พนมเปญ เมื่อเข้าเรียนเพียง 2 ปีได้รับทุนจากรัฐบาลให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ทั้งระดับปริญญาตรีและโทด้านบริหารรัฐกิจ (Public Administration) สาขากฎหมาย

       “การไปเรียนที่ฝรั่งเศส ถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกของผม ด้วยทุนการศึกษาของรัฐบาล ซึ่งในช่วงนั้นนอกจากทุนรัฐบาลแล้วยังมีการให้ทุนการศึกษาจากหลายองค์กรที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ปัจจุบันครอบครัวพ่อแม่ผมยังคงอยู่ที่พระตะบอง”

      ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย Sou Socheat มองว่า กฎหมายคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการดำเนินการทุกด้านควรมีกรอบ กติกาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ และเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองนักลงทุน ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศใด ก็ต้องศึกษาก่อนว่าประเทศนั้นมีกฎหมายหรือไม่ กฎหมายเป็นกติกาที่สำคัญในการคุ้มครองสัญญาธุรกิจ การทำสัญญาทางธุรกิจก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายก่อนเสมอ

     เมื่อสำเร็จการศึกษา Sou Socheat กลับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตามเงื่อนไขการใช้ทุน ต่อมาได้มาทำงานในกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังและมีโอกาสรับผิดชอบโครงการพัฒนาตลาดทุน ดังนั้น เมื่อมีการก่อตั้ง SECC จึงได้โยกมาสานงานต่อกับ SECC ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก่อนที่จะเข้าทำหน้าที่เลขาธิการเป็นคนที่สองนับจากก่อตั้ง

Sou Socheat มีความคุ้นเคยกับสื่อมวลชนเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะให้ข่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เนื่องจากมองว่า สื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาตลาดทุน เพราะเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับนักลงทุนในสิ่งที่ SECC กำลังดำเนินการ แนวทางนโยบายการพัฒนาตลาดทุน รวมถึงสิ่งที่ได้ผลักดันให้เสร็จสิ้น

“ผมคุ้นเคยกับสื่อมวลชนเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นงานของผม การที่จะผลักดันให้ตลาดทุนเติบโตได้ต้องอาศัยสื่อมวลชน ผมจึงเปิดกว้างพร้อมทั้งสนับสนุนทีมงาน SECC ในการพูดคุยสัมภาษณ์กับสื่อเพื่อที่จะให้ข้อมูลในการนำเสนอต่อนักลงทุนว่า SECC กำลังจะทำอะไร มีแผนงานที่จะพัฒนาตลาดทุนอย่างไร แผนพัฒนานักลงทุนอย่างไร รวมทั้งสิ่งที่เราผลักดันให้แล้วเสร็จ”

จับ CLMV ผนึกไทยพัฒนา

Sou Socheat เปิดเผยว่า ในปี 2559 SECC ประสบความสำเร็จในการให้ความเห็นชอบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนใน CSX จำนวน 1 บริษัท ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียนถือว่าไม่มาก เนื่องจากไม่ต้องการที่จะเร่งการเติบโตของ CSX แต่ต้องการที่จะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป CSX เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ตั้งมาไม่นาน SECC จึงไม่สามารถเร่งอนุมัติ IPO ครั้งละ 3-4 บริษัทได้

Sou Socheat กล่าวว่า CSX ยังต้องเรียนรู้อีกมาก จากทุกภาคส่วน ทั้งจากโบรกเกอร์ จากตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค ด้วยการเข้าร่วมในการประชุมหรือเวทีการหารือในระดับอาเซียนและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ CSX เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่งจัดตั้ง เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ลาว เมียนมา เวียดนาม จึงได้จัดตั้งเวทีหารือระหว่างกัน มีผู้บริหารรุ่นใหม่เข้าร่วมเพื่อหาแนวทางพัฒนาตลาดทุนไปร่วมกัน

“เวทีการหารือของพวกเรายังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนจากประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์พัฒนาไปมากแล้ว เช่น ไทย มาเลเซีย เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น ซึ่งช่วยให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการพัฒนาตลาดทุน นอกจากนี้เรายังมีเวที CLMVT ที่ผนวกไทยเข้ามาในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นการริเริ่มด้วยความร่วมมือของกัมพูชากับไทย”

Sou Socheat กล่าวว่า กัมพูชาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจแบบทวิภาคีกับไทยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์ในทั้งสองประเทศ เพราะเห็นว่านักลงทุนของทั้งกัมพูชาและไทยมีความสนใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอีกฝ่าย นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนกัมพูชา SECC ยังได้ลงนามกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (The Greater Mekhong sub-region)

Sou Socheat กล่าวว่า การพัฒนาตลาดทุนกัมพูชา ต้องการเงินทุนจากต่างประเทศเช่นเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ CSX จึงเปิดรับนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ปัจจุบันมีนักลงทุนในประเทศจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย

“เราเรียนรู้จากประเทศไทยและมาเลเซียว่า ตลาดทุนจะเติบโตได้อีกมากจากการที่นักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในตลาด นักลงทุนในประเทศของเรามี แต่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เราจึงต้องการนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศ เพราะเราต้องการเงินทุน ตลาดทุนจะเติบโตไม่เร็วหากไม่มีนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนจากต่างประเทศ และเราก็เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ”

ปัจจุบันนักลงทุนในกัมพูชามีทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย แต่ 90% เป็นรายย่อย นักลงทุนสถาบันมีสัดส่วนน้อยจึงต้องเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น เพราะนักลงทุนสถาบันมีส่วนช่วยให้ตลาดทุนเติบโตและมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ทุกแห่งก็มองเห็นถึงประเด็นนี้จึงต้องการดึงนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะจากต่างประเทศ

กัมพูชาและไทยจึงได้ร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดทุน เพราะตลาดทุนของทั้งสองประเทศจะได้เติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดทุนของภูมิภาคมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากว่าปัจจุบันอาเซียนไม่ได้แข่งขันกันเองแต่เป็นการจับมือกันเพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นในการดึงเงินทุนจากทั่วโลกเข้ามา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งของตลาดทุนทั้งภูมิภาคเพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ

สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการจะลงทุนในตลาดทุนกัมพูชา สามารถเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ได้อย่างสะดวก โดยสามารถเดินทางเข้ามาเปิดบัญชีด้วยตัวเองหรือใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อกับโบรกเกอร์ เพียงแต่นักลงทุนต้องขอ ID จาก SECC ก่อน เมื่อได้ Investors ID แล้วก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ในวันถัดไป โดยการขอ Investor ID นั้นนักลงทุนสามารถขอได้โดยตรงหรือจะให้โบรกเกอร์ขอให้ก็ได้

Sou Socheat ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในกัมพูชาก็ไม่มีข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนเช่นกัน กัมพูชาเปิดเสรีการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติ โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้เต็ม 100% สามารถนำเงินดอลลาร์เข้ามาลงทุนได้ และเมื่อต้องการส่งกำไรกลับเป็นเงินดอลลาร์ก็ทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเช่นกัน เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นหลัก

 
Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต. กัมพูชา

ใช้ Mobile Trading สิ้นปีนี้

Sou Socheat เปิดเผยว่า เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ดังนั้นในสิ้นปีนี้ CSX จะเปิดให้นักลงทุนซื้อขายผ่านโทรศัทพ์มือถือ (Mobile Trading) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบและทดลองใช้ของ CSX กับโบรกเกอร์ ซึ่ง Mobile Trading นี้จะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยซื้อขายหลักทรัพย์ได้สะดวกขึ้น

“เราเรียนรู้การใช้ Mobile Trading จากตลาดหลักทรัพย์ไทย จึงพัฒนาระบบขึ้นเพื่อช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้มีการซื้อขายของนักลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ Mobile Trading จะสามารถให้บริการได้ ขณะนี้ CSX และโบรกเกอร์กำลังร่วมกันพัฒนา เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์ก็จะเสนอ SECC ให้พิจารณาต่อไป”

ปัจจุบันชั่วโมงซื้อขายของ CSX มีเพียงเฉพาะช่วงเช้าเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-11.30 น. มีบริษัทจดทะเบียน 5 ราย ได้แก่ Sihanoukville Autonomous Port, Phnom Penh SEZ Plc., Phnom Penh Autonomous Port, Grand Twin International (Cambodia), Phnom Penh Water Supply Authority มีบริษัทหลักทรัพย์และที่ปรึกษาการลงทุนรวม ราย โดย ได้เป็น Securities Underwriters จำนวน 6 ราย Securities Dealers 1 ราย Securities Brokers 3 ราย Investment Advisors 2 ราย Derivative Broker 6 ราย และ Central Counterparty 4 ราย

ตั้งโครงการอบรมชวน SME เข้าตลาด

โดยที่ CSX ยังเป็นตลาดหลักทรัพย์ใหม่ มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 5 บริษัท ซึ่ง 3 บริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าในระยะต่อไป บริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร แต่ Sou Socheat กล่าวว่า จะพยายามส่งเสริมให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดมากขึ้น โดยในปีนี้จะผลักดันให้เข้าจดทะเบียน 1 บริษัท และในปี 2561 อีก 2-3 บริษัท แต่จะไม่ใช่บริษัทใหญ่ทั้งหมด โดย 1-2 รายเป็นบริษัทใหญ่ แต่ที่เหลือเป็นธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SME)

CSX มี 2 ตลาด ประกอบด้วย Main Board and Growth Board โดยบริษัทที่จะจดทะเบียนใน Main Board ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านเรียล ปีสุดท้ายและกำไรสุทธิก่อนยื่นจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านเรียลติดต่อกัน 2 ปี ส่วน Growth Board ซึ่งรองรับ SME เข้าจดทะเบียน กำหนดทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านเรียล และต้องมีกำไรสุทธิ หรือมีกระแสเงินสดเป็นบวกในปีสุดท้ายก่อนยื่น

Sou Socheat กล่าวว่า SECC ยังส่งเสริม บริษัททั่วไปและ SME ในกัมพูชา ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงได้จัดทำโครงการ Excellence Program ให้ความรู้แก่บริษัททั่วไปและ SME โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของไทยและนักธุรกิจำชั้นนำมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในการใช้ตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ

“เราเริ่ม Excellence Program เพื่อสนับสนุนให้ SME ธุรกิจในกัมพูชารับรู้เกี่ยวกับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ว่าจะส่งผลดีและมีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร ซึ่งรูปแบบโครงการจะเป็นการสัมมนา 3 วัน มีการบรรยายจากนักธุรกิจและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนชั้นนำจากไทยและกัมพูชา และมี in-house training อีก 2 เดือน ด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อทำเวิร์กชอปที่มีโบรกเกอร์คอยดูแล”

www.secc.gov.kh ให้ข้อมูลผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าร่วม Excellence Program ได้แก่ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพีเอฟ, นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธาน บมจ.คาราบาวกรุ๊ป, นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. และนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธาน บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ขยายบริการที่ปรึกษาการลงทุนครอบคลุม CLMV

Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต. กัมพูชา

เปิดแผนพัฒนาระยะ10 ปี

ปัจจุบันภาคธนาคารยังคงเป็นกลไกหลักในระบบเศรษฐกิจ ตลาดทุนไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อแข่งขันกับภาคธนาคาร แต่ต้องใช้ระบบธนาคารที่มีอยู่มาสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน โดย Sou Socheat กล่าวว่า SECC ชี้ให้เห็นตลอดมาว่า ตลาดทุนเป็นอีกแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจที่ทั่วไปมักใช้เงินกู้จากธนาคาร แต่หากไม่ได้เงินกู้จากธนาคาร ตลาดทุนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา

“เราต้องส่งเสริมให้ระบบธนาคารมีการพัฒนา และใช้ระบบธนาคารที่แข็งแกร่งนั้นมาสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน ปัจจุบันนี้ธนาคารเองก็มีส่วนในการพัฒนาตลาดทุน เพราะเรามีธนาคารเป็น Settlement Agent อยู่ 3 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจาก SECC อีก 1 ราย”

มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ (Market Capitalization) ของ CSX ยังไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 80,000 บัญชี แต่เป็นบัญชีที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว (active) นัก ด้วยเหตุนี้ในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2559-2568 จึงบรรจุการพัฒนาตลาดทุนเข้าไว้ด้วย โดยที่การพัฒนาตลาดทุนนั้นจะมีแผนปฏิบัติงานรายปีประกอบเพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานอีกด้วย

Sou Socheat กล่าวว่า แผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับแรกนั้นมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งตลาดทุน แต่แผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับนี้มุ่งพัฒนาและยกระดับตลาดทุน โดยมองว่าในการพัฒนาตลาดทุนนั้นจำเป็นที่ต้องมีบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น SECC จึงดำเนินการในหลายด้านเพื่อชักชวนให้ธุรกิจเข้ามาจดทะเบียน รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อให้หันมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้นักลงทุนที่มีบัญชีอยู่แล้วซื้อขายให้มากขึ้น

“แผนของเรามีเรื่องสำคัญหลัก คือ ชวนธุรกิจให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ขณะเดียวกันให้ความรู้แก่นักลงทุนถึงข้อดีในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดทุน สร้างการรับรู้เกี่ยวกับตลาดทุนให้กับประชาชนทั่วไป รวมไปถึงจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งหากประสบความสำเร็จในเป้าหมายหลักนี้ก็จะทำให้ตลาดทุนกัมพูชาขยายตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา เพราะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อดีของตลาดทุนก่อน ”

ทางด้านนักลงทุนนั้น ยังไม่ค่อยมีการซื้อขายกันมากนัก เนื่องจากตลาดทุนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุน จึงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงข้อดีของตลาดทุนมากพอ อย่างไรก็ตามการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนต้องทำทั้งสองด้านควบคู่กันไป คือ ทั้งบริษัททั่วไปและนักลงทุน เพราะบริษัทมองว่าไม่มีนักลงทุนจึงไม่น่าสนใจที่จะเข้าจดทะเบียน ส่วนนักลงทุนมองว่าจำนวนบริษัทจดทะเบียนมีน้อย ตลาดไม่มีสภาพคล่องจึงไม่สนใจลงทุน

นอกจากนี้ สินค้ามีเพียงประเภทเดียว คือ หุ้น ยังไม่มีสินค้าอื่นให้นักลงทุนได้ลงทุน ดังนั้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้สนใจลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ต้องเพิ่มประเภท (sector) ของบริษัทจดทะเบียนให้มากขึ้น จากที่มีอยู่ 5 บริษัทกระจุกอยู่ใน sector เดียวคือโครงสร้างพื้นฐาน โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคารเข้าไป

“เราต้องกระจายบริษัทจดทะเบียนให้มีหลาย sector มากขึ้น ตามที่ได้เรียนรู้จากตลาดอื่น อสังหาริมทรัพย์และธนาคาร เป็น sector ที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจ ดังนั้นเราต้องชักชวนบริษัทใน sector นี้เข้ามาจดทะเบียน ขณะนี้มี 2 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ 1 บริษัทการเงินให้ความสนใจที่จะเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งอาจจะเป็นในปี 2561

Sou Soucheat กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ในกัมพูชามีขนาดใหญ่พอที่จะมาเข้ามาจดทะเบียนได้ แต่จะจดทะเบียนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารโดยตรง SECC เพียงชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนของธนาคารพาณิชย์จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั่วไป เพราะตลาดทุนไม่เพียงเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งที่สร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย

บริษัทจดทะเบียนใน CSX จะได้รับสิทธิทางภาษี โดยจะเสียภาษีในอัตรา 10% เป็นระยะเวลา 3 ปี จากอัตราปกติ 20% ทั้งนี้เพื่อเสริมขีดความสามารถของบริษัทจดทะเบียนให้สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นในภูมิภาคได้

เร่งตั้งตลาดตราสารหนี้เสริมแกร่ง

ตลาดทุนที่ก่อตั้งขึ้นนั้นยังไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยกัมพูชาสามารถแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่ากัมพูชามีตลาดทุน การที่ตลาดทุนจะเติบโตได้ต้องมีบริษัทจดทะเบียน และต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อ Market Capitalisation เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ SECC ยังคงพัฒนาตลาดทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น

ตลาดทุนที่พัฒนาตามแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงินฉบับที่สองสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก เพราะ Market Capitalisation ยังไม่สูง เทียบกับ GDP แล้วมีสัดส่วนที่น้อยมาก ทั้งนี้ เศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งไม่มีตลาดทุนนั้นก็สามารถเติบโตได้สูงในอัตรา 7% แต่ในระยะต่อไป SECC มีแผนที่จะจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังร่างระเบียบเพื่อการกำกับดูแล ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการให้พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะให้ความเห็นชอบภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ SECC ยังทำงานร่วมกับไทยในการจัดทำมาตรฐานของการเข้าจดทะเบียน 2 ตลาด หรือ Dual-listing เพื่อรองรับบริษัทจดทะเบียนของกัมพูชาและไทยที่สนใจจะจดทะเบียนแบบ Dual-listing โดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ของทั้งสองประเทศต้องจัดทำกระบวนการและกฎเกณฑ์ของการเข้าจดทะเบียน Dual-listing ให้เหมือนกัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีมาตรฐาน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วไปของทั้งสองประเทศ

ในเร็วๆ นี้ SECC จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับ ก.ล.ต. ไทยที่กัมพูชา เพื่อหารือเกี่ยวกับการวางกฎเกณฑ์การจดทะเบียนแบบ Dual-listing โดยไทยได้กำหนดกฎเกณฑ์บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าจดทะเบียนแบบ Dual-listing ว่าจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท หลังเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน และมีกำไรสุทธิปีล่าสุดก่อนยื่นคำของไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

Sou Socheat เลขาธิการ ก.ล.ต. กัมพูชา

เรียนรู้จากตลาดใหญ่อาเซียน

 มองไปข้างหน้า สิ่งที่ท้าทายสำหรับ SECC ในความคิดเห็นของ Sou Socheat คือ ไม่เพียงแค่การชักชวนให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุน แต่ยังเป็นการแข่งขันกับตลาดทุนอื่นๆ ด้วย เพื่อทำให้ตลาดทุนของกัมพูชาเติบโต แน่นอนว่าบริษัทหรือธุรกิจที่ยังไม่รู้จักและเข้าใจตลาดทุนนั้นย่อมกังวลต่อการแข่งขันจากคู่แข่งในตลาดอื่นเช่นกัน SECC จึงต้องทำให้บริษัทมั่นใจต่อการเข้าจดทะเบียนที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับนักลงทุนที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการที่จะนำเงินมาลงทุน

Sou Socheat กล่าวว่า กัมพูชาเรียนรู้จากการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ที่ได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจการเงินมาหลายระลอก ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตลาดทุนอื่นนำช่วยให้เส้นทางการพัฒนาตลาดทุนของกัมพูชาสั้นลง เพราะไม่ต้องเริ่มต้นที่จุดตั้งต้นเหมือนกับตลาดอื่น ซึ่งจะทำให้ตลาดทุนกัมพูชาเติบโตไปอย่างรวดเร็วได้

  การจัดตั้งตลาดทุนกัมพูชาในระยะแรก เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่บันทึกไว้ ส่วนใหญ่เป็นในด้านกฎเกณฑ์ ควบคู่กับการให้คำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุน พร้อมๆ กับการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กัมพูชาได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้ว SECC ก็ได้เข้าร่วมการประชุมและเวทีสัมมนาต่างๆ ในระดับภูมิภาคและอาเซียน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นในการพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง

“เราเรียนรู้จากไทย มาเลเซีย ว่าพัฒนาอย่างไรในระยะแรก รวมทั้งตลาดทุนในประเทศอื่นด้วย เรียนรู้ทั้งข้อผิดพลาดและสิ่งดีๆ ในตลาดอื่น แต่เราเลือกใช้เฉพาะสิ่งดีมาพัฒนาตลาดทุนของเรา ตัวอย่างเช่น เราเรียนรู้จากไทยในการพัฒนา Mobile Trading และการดึงดูดนักลงทุนสถาบันต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน ซึ่งการพัฒาในไทยเป็นแบบตามขั้นตอน แต่สำหรับกัมพูชาไม่เริ่มต้นจากการเคาะกระดานซื้อขายแบบเดิม แต่เริ่มจากกระดานอิเล็กทรอนิกส์เลย จึงพัฒนาได้ในระยะสั้น การเรียนรู้จากตลาดอื่นทำให้การพัฒนาตลาดทุนของเราย่นระยะเวลาได้มาก ประกอบกับยุคนี้มีการพัฒนา FinTech เกิดขึ้น ทำให้การพัฒนาตลาดทุนก้าวข้ามการพัฒนาตามขั้นตอนเดิมไปได้”

จากการศึกษาการพัฒนาตลาดทุนอื่นที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจการเงินตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐฯ ในปี 2551 Sou Socheat กล่าวว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนทั่วโลกต่างผ่านมาหลายสภาวะ ทั้งในด้านไม่ดีและด้านดี ซึ่งประสบการณ์ในด้านไม่ดีนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ส่วนประสบการณ์ดีและคิดว่าดี บางครั้งก็มีผลผลต่อตลาดก็เป็นได้

“บางครั้งประสบการณ์ในด้านร้ายก็มีส่วนช่วยให้ตลาดเติบโตได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งประสบการณ์ในทางดีก็มีผลให้ตลาดเติบโตช้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกให้ตลาดโตเร็วแต่เต็มไปด้วยปัญหาหรือโตช้าแต่มีเสถียรภาพ บางครั้งประสบการณ์ในด้านร้ายก็กลับเป็นข้อได้เปรียบของตลาด สำหรับเราแล้วโตช้าแต่มั่นคงจะดีกว่าเพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ดี”

htt    ps://thaipublica.org/

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!