- Details
- Category: CLMV
- Published: Monday, 19 September 2016 14:37
- Hits: 6847
Analysis : เมียนมาขานรับสหรัฐยกเลิกคว่ำบาตร หวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนสู่ดินแดนอิรวดี
เมียนมา ขานรับสหรัฐประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรพร้อมกับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้เมียนมามีบรรยากาศด้านการลงทุนที่ดีขึ้น โดยเมียนมาให้คำมั่นว่า จะดำเนินเตรียมการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการแก้ไขนโยบายในครั้งนี้
ภายหลังจากการหารือในระดับทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาในระหว่างการเดินทางไปเยือนสหรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนขึ้นปกครองประเทศเมียนมานั้น ฝ่ายสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะคืนสิทธิ GSP ให้กับเมียนมา
แถลงการณ์ของสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐในวอชิงตันระบุว่า สหรัฐจะคืนสิทธิ GSP ให้กับเมียนมาในวันที่ 13 พ.ย.ปีนี้ การตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลให้เมียนมามีโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์เกือบ 5,000 รายการไปยังสหรัฐโดยไม่ต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ สหรัฐได้ตัดสิทธิ GSP สำหรับ เมียนมามาตั้งแต่ปี 2532 เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิทธิของแรงงาน โดยในปี 2556 เมียนมาได้เริ่มต้นการเจรจาเพื่อขอคืน GSP
โอบามากล่าวภายหลังการประชุมในระดับทวิภาคีว่า สหรัฐกำลังเตรียมที่จะยกเลิกการคว่ำบาตรต่อเมียนมาในส่วนที่เหลือและจะดำเนินการในเร็วๆนี้
แถลงการณ์ร่วมของทั้งสองประเทศระบุว่า สหรัฐยังจะยกเลิกแผนฉุกเฉินแห่งชาติว่าด้วยเมียนมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 อีกด้วย โดยจะยกเลิกกรอบการทำงานตามคำสั่งของฝ่ายบริหารว่าด้วยการคว่ำบาตรต่อเมียนมา
นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความสำเร็จในการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากพลเรือน
ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคกล่าวแสดงความเห็นว่า สหรัฐยังไม่ควรจะยกเลิกการคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น หยกและทับทิม การซื้อขายอาวุธ และบัญชีดำบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับอดีตรัฐบาลทหารของเมียนมา
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าวระบุว่า การลบรายชื่อนักธุรกิจที่ทรงอำนาจออกจากบัญชีดำนั้น จะทำให้มีผลในด้านบวก เนื่องจากบางรายเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของเมียนมา
นายออง โค โค นักเศรษศาสตร์ของเมียนมากล่าวว่า สหรัฐอาจจะคงการคว่ำบาตรการนำเข้าหยก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและมีปัญหาเรื้อรังมานาน
ด้านนาย ออง ทัน อู ประธานสมาพันธ์ข้าวของเมียนมาร์กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าจะมีการคืนสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้โครงการ GSP ของสหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่ปี 2556 มาแล้วก็ตาม แต่เมียนมาก็ยังคงไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาคธุรกิจของเมียนมาไม่ได้มีโครงสร้างที่ดี รวมทั้งขาดการควบคุมคุณภาพและแหล่งเงินทุน"
"สำหรับในส่วนของข้าว เรามีข้าวเพียงแค่ 2,000 ตันสำหรับการส่งออกไปยัง EU ในแต่ละเดือน" เขากล่าว
ในภาพรวมแล้ว มีบริษัทสหรัฐในเมียนมาเพียง 17 แห่งและมีมูลค่าการค้ารวมที่ 248.216 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนส.ค.ของปีงบประมาณ 2559-2570 โดยความสัมพันทางการค้าในระดับทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศได้เริ่มขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในปี 2554 ขณะที่ในปีงบประมาณ 2558-2559 มูลค่าการค้าในระดับทวิภาคีแตะที่ 196.902 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในยุคของรัฐบาลทหาร การลงทุนของสหรัฐต้องดำเนินการผ่านทางบุคคลที่สาม เนื่องจากมีข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เมียนมาไม่สามารถเข้าถึงการค้าและรายได้
นายอู ออง เนียง อู ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักงานบริหารการลงทุนและบริษัทเอกชนกล่าวว่า การยกเลิกการคว่ำบาตรจะช่วยให้เมียนมามีบรรยากาศด้านการลงทุนที่ดีขึ้น
บทวิเคราะห์โดย May Oo จากสำนักข่าวซินหัว