- Details
- Category: CLMV
- Published: Tuesday, 10 November 2015 11:56
- Hits: 6596
โลกยินดี ชัยชนะพรรคซูจี ผลเป็นทางการ ต้องรออีก 10 วัน มั่นใจถล่มทลาย ยิ่งลักษณ์ชื่นชม ปชป.อัดพท.โหน
ผู้นำทั่วโลกร่วมแสดงความยินดี'ประชาธิปไตย ในพม่า'หลังการเลือกตั้งผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ค่อนข้างโปร่งใส มีผู้ใช้สิทธิ์เป็นประวัติการณ์ รมว.ต่างประเทศมะกัน'จอห์น แคร์รี่'ชี้ระบบการเมืองพม่าก้าวไปอีกขั้น แต่ยังไม่สมบูรณ์ต้องรอผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการเสียก่อน 'ยิ่งลักษณ์'โพสต์แสดงความยินดีผลการเลือกตั้ง และการแสดงออกในระบอบประชา ธิปไตยที่มีประชาชนมาใช้สิทธิ์เกิน 80 เปอร์ เซ็นต์ ด้านออง ซาน ซู จี ชี้ยังเร็วเกินไปที่จะแสดงความยินดีกับชัยชนะของผู้สมัคร แนะผู้ปราชัยต้องยอมรับผล ขณะเดียวกันผู้ชนะ ก็ต้องไม่เยาะเย้ยคนพ่ายแพ้ให้รู้สึกแย่ไปด้วย โฆษกพรรคเอ็นแอลดีระบุพรรคกวาดที่นั่ง ถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะในภาคกลาง
วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9113 ข่าวสดรายวัน
ประกาศชัย - นางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ประกาศกับประชาชนผู้สนับสนุนมั่นใจว่าพรรคได้รับชัยชนะเลือกตั้งในการหย่อนบัตรเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการพรรค กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 9 พ.ย.
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งเอพี เอเอฟพี บีบีซี ซีเอ็นเอ็น ต่างรายงานความคืบหน้าผลการนับคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศพม่าว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี กวาดชัยชนะไปอย่างถล่มทลาย โดยพรรครัฐบาล พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ยอมรับผลที่ออกมาโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ หลังการนับคะแนนในช่วงแรกพรรคกวาดที่นั่งไปได้กว่าร้อยละ 70 เฉพาะในนครย่างกุ้ง เอ็นแอลดีกวาดที่นั่งส.ส. จำนวน 12 ที่นั่งในนครย่างกุ้ง ขณะที่นางซู จีกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่าพรรคจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งยัง เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนอย่าเยาะเย้ยผู้พ่ายแพ้
"ตอนนี้ยังเร็วไป ที่จะแสดงความยินดีต่อผู้สมัครของพรรคที่จะเป็นผู้ชนะ และดิฉันขอเตือนทุกคนว่า ไม่เพียงผู้สมัครปราชัยต้องยอมรับผลของผู้ชนะ สิ่งสำคัญคือต้องไม่ เยาะเย้ยผู้สมัครที่ไม่ชนะให้รู้สึกแย่ลงไป"นางซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีกล่าวและว่า ชัยชนะนี้เป็นของประชาชนทั้งประเทศ
ทั้งนี้ พรรคเอ็นแอลดียังมีผู้สังเกตการณ์หลายพันคนที่ไปประจำตามคูหาในช่วงหย่อนบัตรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย. โดยติดตามสังเกตการณ์และสำรวจจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จนถึงช่วงปิดหีบบัตร เพื่อส่งข้อมูลไปยังแกนนำพรรคให้ประเมินผลก่อนที่จะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ
นายวิน เทียน โฆษกพรรคเอ็นแอลดีให้สัมภาษณ์เอพีว่า ผลการเลือกตั้งในรัฐบริเวณภาคกลาง พรรคกวาดคะแนนเสียงได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนพรรคที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์มีคะแนนลดลงไปตั้งแต่ร้อยละ 70 ถึงร้อยละ 50
ด้านนายเทย์ โอ รักษาการหัวหน้าพรรคยูเอสดีพี และนายฉ่วย มาน ประธานสภาผู้แทนและอดีตหัวหน้าพรรคยูเอสดีพี ต่างกล่าวยอมรับความพ่ายแพ้โดยไม่มีข้อโต้แย้ง และว่าพรรคจำเป็นต้องหาสาเหตุถึงความพ่ายแพ้ต่อไป ในขณะที่หนังสือพิมพ์นิวไลต์ออฟเมียนมา กระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า พาดหัวข่าวว่า "รุ่งอรุณของยุคใหม่ หลายล้านคนใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์" อันเป็นข้อความที่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้
ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนในปี 2554 พรรคยูเอสดีพี ภายใต้การนำของประธานา ธิบดีเต็ง เส่ง อดีตพลเอกที่ผันมาเป็นพลเรือน เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ เนื่องจากพรรคเอ็นแอลดีคว่ำบาตร เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะทหาร สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจต้องใช้เวลานถึง 10 วัน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า การเลือกตั้ง ครั้งนี้ดำเนินไปอย่างเป็นอิสระที่สุดครั้งหนึ่งของพม่า หลังจากการบริหารประเทศของรัฐบาลกึ่งพลเรือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในการถ่ายโอนสู่การเป็นประชาธิปไตย โดยมีพรรคการเมืองต่างๆ 91 พรรคส่งผู้สมัครลงชิงชัย ส่วนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงครั้งแรกสูงกว่า 30 ล้านคน รวมถึงนางซู จี จึงเป็นความหวังถึงการปฏิรูปประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ชี้จุดอ่อนในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ทางการได้กีดกันชาวโรฮิงยา ซึ่งเคยมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกว่า 5 แสนคน ด้วยการปรับเปลี่ยนการประเมินให้เป็นชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้ยังไม่ถึงกับทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้กำหนดสัดส่วนสมาชิกสภาไว้ให้ทหารสูงถึงร้อยละ 25 และยังมีเนื้อหาที่กีดกันไม่ให้นาง ซู จี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ตามที่เขียนห้ามบุคคลที่มีสามีหรือบุตรที่มีสัญชาติอื่นนอกจากพม่าขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ในขณะที่บุตรชายทั้งสองของนางซู จี ถือสัญชาติอังกฤษ ซึ่งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ นางซู จี ประกาศว่า หากพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้ง พรรค มีแผนไว้แล้วว่าจะหาบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นประธานาธิบดี และตนจะมีบทบาทเหนือประธานาธิบดีเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในการบริหารประเทศตามที่หาเสียงไว้
สำหรับ ปฏิกิริยาจากสหรัฐอเมริกา นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศกล่าวแสดงความยินดีต่อชาวพม่าที่มีการเลือกตั้งครั้งประวัติ ศาสตร์อย่างสันติ การที่คนนับล้านออกมาใช้สิทธิ์เป็นครั้งแรก และคว้าโอกาสที่จะขับเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตย ที่เคารพสิทธิของทุกคนไปอีกขั้นนั้น เป็นความกล้าหาญและการอุทิศตนของชาวพม่ามานานหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเลือกตั้งนี้จะสำคัญ แต่ก็ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์ ผู้สังเกตการณ์ทั่วโลกจึงจะจับตากระบวนการนับคะแนนต่อไป
ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความยินดีของประชาชนชาวเมียนมาว่า ขอแสดงความยินดีกับประเทศและประชาชนชาวเมียนมา ที่ผ่านการเลือกตั้งครั้งประวัติ ศาสตร์ไปอย่างเรียบร้อย และมีประชาชนร่วมใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากถึง 80% ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง ในการก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น สมตามเจตนารมณ์และความคาดหวัง ที่ชาวเมียนมาและชาวโลกปรารถนา ขอส่งกำลังใจและความปรารถนาดีอย่างสุดซึ้งมายังประเทศและประชาชนชาวชาวเมียนมาทุกท่าน ให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างหนักแน่นและมั่นคงต่อไป"
ขณะที่แฟนเพจเข้าไปกดไลก์และให้กำลังใจจำนวนมาก มีบางคนบ่นท้อถึงประชาธิป ไตยในประเทศไทย และการเลือกตั้งว่าไม่รู้จะกลับมาเมื่อไร บางคนแสดงความเห็นขอให้อดีตนายกฯ เตรียมตัวไว้ว่า อีกไม่นานคนส่วนใหญ่จะเลือกให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯ และอดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า อยากให้คนของพรรคประชาธิปัตย์ หันกลับมาดูตัวเองด้วยว่าวันนี้คนเมียนมามีความสุขที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์นัก ขณะที่ไทยเรามีระบอบประชาธิปไตยมานาน และเราน่าจะเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยที่สากลยอมรับและพัฒนาให้ดีขึ้น แต่กลับมีพวกที่ชอบถ่วงความเจริญ ไม่ยอมรับฟังเสียงข้างมากของประชาชน ทำให้ประชาธิปไตยในไทยก้าวถอยหลัง และวันนี้ต้องมาเริ่มต้นเขียนกฎกติกาเลือกตั้งและยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ แม้แต่วิธีนับคะแนนเสียงส.ส. ก็ต้องการความได้เปรียบ เพื่อหวังชนะเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมและเคารพเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
"เป็นเพราะมีคนจำพวกหนึ่งเป็นพวกขี้แพ้แล้วไม่ยอมแพ้ ออกมากล่าวหาว่ามีการซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง เสียงข้างมากเป็นเผด็จการสภา พวกมากลากไป ทุกวาทกรรมที่ออกมาเพื่อล้มรัฐบาล สร้างความวุ่นวายต่างๆ นานา จนทหารต้องยึดอำนาจ ขอถามจริงๆ ว่าไม่รู้สึกละอายแก่ใจกันบ้างหรือ โดยเฉพาะพอรู้ว่าจะแพ้การเลือกตั้งก็บอยคอตการเลือกตั้ง" นายสุรพงษ์กล่าว
วันเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความผ่าน เฟซบุ๊กระบุว่าเห็นคนของพรรคเพื่อไทย ออกมาโหนกระแสชัยชนะของนางออง ซาน ซู จี ต่อการเลือกตั้งในเมียนมา แต่สิ่งที่เพื่อไทย ลืมไป ระหว่างนางออง ซาน กับน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นเทียบกันไม่ได้ ออง ซานเขาต่อสู้และเป้าหมายของเขาคือประชาชนชาวเมียนมาแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ใครๆ ก็รู้ว่าทำเพื่อใคร