- Details
- Category: CLMV
- Published: Monday, 09 November 2015 12:24
- Hits: 7901
พม่าแห่เลือกตั้ง 80% ใช้สิทธิ์ปชต.ในรอบ 25 ปี 'พรรคซูจี'มั่นใจชัยชนะ
ชาวพม่าแห่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 25 ปี สูงถึง 80% จาก 30 ล้านคน 'ออง ซาน ซู จี'ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี รุดใช้สิทธิ์ในนครย่างกุ้งท่ามกลางเสียงผู้สนับสนุนตะโกน 'ชัยชนะ'ดังกึกก้อง ด้านปธน.เต็ง เส่ง หัวหน้าพรรคยูเอสดีพี ยิ้มหลังเข้าคูหากาบัตร เผยผู้สมัครรับเลือกตั้งกว่า 6,000 คน จากกว่า 90 พรรค ชิงเก้าอี้ 664 ที่นั่งในรัฐสภา โดยที่นั่งร้อยละ 25 สงวนไว้ให้ตัวแทนฝ่ายกองทัพ บรรยากาศชายแดนไทยคึกคัก ชาวพม่าต่อแถวยาวรอใช้สิทธิ์ ส่วนแรงงานพม่าที่สมุทรสาครเฝ้าหน้าจอทีวี เกาะติดความเคลื่อนไหวพร้อมลุ้นผลการเลือกตั้ง หลังปิดหีบชาวพม่าเฝ้าชมถ่ายทอดสดการนับคะแนน เผยพรรคเอ็นแอลดีมีคะแนนนำโด่งในหลายหน่วยเลือกตั้ง
วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9112 ข่าวสดรายวัน
ใช้สิทธิ์ - นางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ของประเทศในรอบ 25 ปี เมื่อวันที่ 8 พ.ย.
โลกจับตาเลือกตั้งพม่ารอบ 25 ปี
วันที่ 8 พ.ย. สำนักข่าวต่างประเทศทั้งเอเอฟพี เอพี บีบีซี รายงานบรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ของพม่า ซึ่งนับเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้างที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ภายหลังการปกครองระบอบเผด็จการทหารนานหลายทศวรรษ โดยสองพรรคสำคัญที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี และพรรครัฐบาลปัจจุบันคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือยูเอสดีพี ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง การเลือกตั้งครั้งนี้ชาวพม่าให้ความสนใจและตื่นตัวเป็นอย่างยิ่งและเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 6,000 คน จากกว่า 90 พรรค เพื่อชิงที่นั่ง 664 ที่นั่งในรัฐสภา อย่างไรก็ตามที่นั่งร้อยละ 25 ถูกสงวนไว้สำหรับตัวแทนจากกองทัพซึ่งเป็นฝ่ายของพรรคยูเอสดีพี ขณะที่นางซู จี ยังถูกรัฐธรรมนูญห้ามดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากมีคู่สมรสและบุตรเป็นชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม นางซู จี ประกาศแล้วว่าหากพรรคของตนชนะการเลือกตั้ง ตนจะดำรงตำแหน่งที่ "เหนือกว่าประธานาธิบดี" ทั้งนี้พรรคเอ็นแอลดีต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 67 เพื่อครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรมที่สุดครั้งหนึ่ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีชาวพม่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 30 ล้านคน ไม่นับรวมชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายแสนคนซึ่งไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และบางพื้นที่ของประเทศที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้เพราะปัญหาความไม่สงบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพ
ซูจีใช้สิทธิ์ในนครย่างกุ้ง
ด้านเอเอฟพีรายงานบรรยากาศในตอนเช้าที่หน่วยเลือกตั้งที่นางออง ซาน ซู จี วัย 70 ปี เดินทางมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง โดยนางซู จี สวมชุดประจำชาติสีแดง ประดับดอกไม้ที่ศีรษะอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มีผู้สนับสนุนมาให้กำลังใจทั่วบริเวณและตะโกนคำว่า "ชัยชนะ" กึกก้อง ขณะที่หน่วยเลือกตั้งอื่นๆ ทั่วประเทศ มีชาวพม่าจำนวนมากเดินทางมาต่อแถวเพื่อรอใช้สิทธิ์ตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดหน่วย
นายมยินท์ ออง วัย 74 ปี หนึ่งในผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน่วยเดียวกับนางซู จี เผยว่า "ลงคะแนนไปเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของผมเสร็จแล้ว ผมเลือกคนที่ประชาชนต้องการให้มาปกครอง" นายมยินท์ ออง กล่าวพร้อมชูนิ้วก้อยที่มีรอยหมึกสีม่วงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าได้ไปลงคะแนนมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้สนับสนุนพรรเอ็นแอลดีอีกหลายคนมา ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เช่น นายโอนห์มาร์ วิน อายุ 38 ปี กล่าวว่ารู้สึกตื่นเต้น จนนอนไม่หลับ นี่เป็นครั้งแรกที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หวังว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ในตอนเย็นจะเดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ของพรรคเอ็น แอลดีเพื่อรอฟังผล ขณะที่ผู้สนับสนุนนาง ซู จี อีกคนหนึ่ง น.ส.กลอเรีย วัย 24 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัย กล่าวว่า "พรรคเอ็น แอลดีสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ฉันหวังว่าประธานาธิบดีจะยอมรับผลการเลือกตั้ง หากพรรคเอ็นแอลดีชนะ"
เต็งเส่งยิ้มหลังเข้าคูหากาบัตร
ขณะที่นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า และหัวหน้าพรรคยูเอสดีพี อดีตนายพลระดับสูงในกองทัพ เดินทางมาใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งที่กรุงเนปิดอว์ ยิ้มให้สื่อมวลชนถ่ายภาพภายหลังใช้สิทธิ์ ที่ผ่านมานายเต็ง เส่ง เคยระบุว่าพร้อมยอมรับผลการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าที่พร้อมยอมรับผลการเลือกตั้งเช่นกัน โดยกล่าวว่า "ก็เหมือนกับที่ผู้ชนะยอมรับ ผู้แพ้ก็ควรยอมรับเช่นกัน" ท่ามกลางความกังวลของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงจำนวนมากเกี่ยวกับปฏิกิริยาจากกองทัพหากพรรคยูเอสดีพีแพ้การเลือกตั้ง
เลือกตั้ง - ชาวพม่าต่อแถวยาวหลายร้อยเมตรรอใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งประวัติ ศาสตร์ในรอบ 25 ปี ที่จ.มะริด ใกล้ชายแดนด้านจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยยอดผู้ออกไปใช้สิทธิ์ ทั่วประเทศสูงถึง 80% |
กกต.แจ้งชาวพม่าใช้สิทธิ์ 80%
ขณะที่บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างปกติ คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าเผยว่ายังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใดๆ แต่มีรายงานว่าพรรคเอ็น แอลดีเผยว่ามีการซื้อเสียงโดยพรรคยูเอสดีพีที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ก่อนที่หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศจะปิดเมื่อเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งเผยว่ามีชาวพม่าผู้มีสิทธิ์มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงร้อยละ 80 ก่อนเริ่มนับคะแนนหลังปิดหีบไม่นานนัก โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติยังถ่ายทอดสดการนับคะแนนในหลายหน่วยเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การเลือกตั้งในวันเดียวกันนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของพรรคเอ็นแอลดี ตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งครั้งนั้นพรรคเอ็นแอลดี ชนะแบบถล่มทลาย แต่รัฐบาลทหารพม่ากลับไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก่อนจับนางซู จี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ไปกักตัวในบ้านพักนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งในปี 2554 ที่รัฐบาลทหารประกาศส่งอำนาจให้รัฐบาลกึ่งพลเรือนซึ่งบริหารโดยบรรดาอดีตนายพลของกองทัพ จนนำไปสู่การปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองจำนวนมาก รวมถึงนางซู จี ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้ง แต่เป็นที่คาดว่ากองทัพยังจะคงรักษาอำนาจไว้ได้ เพราะนอกจากจำนวนที่นั่งร้อยละ 25 ในรัฐสภาที่เป็นของทหารแล้ว กฎหมายยังระบุให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวง สำคัญหลายกระทรวงมาจากกองทัพ และกองทัพยังมีอำนาจในการเข้าควบคุมรัฐบาลภายใต้สถานการณ์ที่จำเป็น นอกจากนี้กองทัพยังควบคุมเศรษฐกิจเพราะครอบครองบริษัทจำนวนมาก
ชายแดนไทยคึกคักพม่าแห่ใช้สิทธิ์
ด้านบรรยากาศการเลือกตั้งใหญ่ใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นไปด้วยความคึกคัก ชาวพม่าเดินทางผ่านด่านพรมแดนจากฝั่งไทยไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างเนืองแน่น ขณะที่บรรยากาศตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในตัวเมืองท่าขี้เหล็กและหัวเมืองอื่นๆ มีชาวพม่าออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันตั้งแต่ช่วงเช้า บางหน่วย มีการเข้าแถวยาวจนเจ้าหน้าที่พม่าต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้การเลือกตั้งผ่านพ้นไปด้วยดี ขณะที่การค้าชายแดนในวันเลือกตั้งซบเซาลงชั่วคราว เพราะชาวพม่าบางส่วนหยุดงานเพื่อไปเลือกตั้ง
ร.ต.อ.ปัฐพงค์ ปัญญานะ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย กล่าวว่าตามปกติจะมีชาวพม่าเดินทางไปยังท่าขี้เหล็กวันละประมาณ 4-5 พันคน แต่ในรอบ 3 วันที่ผ่านมาจนถึงวันเลือกตั้งตัวเลขพุ่งสูงถึงวันละกว่า 6-7 พันคน ซึ่งถือว่าเพิ่มจากช่วงเวลาปกติค่อนข้างมาก ขณะที่ขาเข้าปกติช่วงเช้าซึ่ง เคยมีรถบรรทุกสินค้าหรือคนเดินทางเข้าประเทศไทยกลับดูโล่ง แสดงว่ามีความตื่นตัวไปใช้สิทธิ์กันค่อนข้างมาก
น.ส.มู เล อายุ 21 ปี แรงงานชาวพม่าในฝั่งไทย กล่าวว่าตื่นเต้นมากที่ได้กลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิตของตน แต่ปัญหาคือไม่รู้ขั้นตอน วิธีการ และไม่ทราบเรื่องการไปลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้ง จึงต้องสอบถามจากเจ้าหน้าที่และญาติไปพลางก่อน ในการลงคะแนนเสียงต้องการให้ได้พรรคการเมืองที่ใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนชาวพม่าเข้าไปบริหารประเทศ
ตรึงสถานการณ์ด่านเจดีย์สามองค์
สำหรับ สถานการณ์ตามแนวชายแดนพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณด่านพรมแดน บ้านพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี ซึ่งมีแนวเขตชายแดนติดกับกิ่งอำเภอพญาตองซู ประเทศพม่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนฝั่งไทยยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบตามแนวชายแดนไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวข้ามไปฝั่งกิ่งอำเภอพญาตองซู ส่วนแรงงานชาวพม่าที่ทำงานอยู่ตามโรงงานต่างๆ เดินทางกลับไปลงคะแนนเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งของกิ่งอำเภอพญาตองซูกันอย่างคึกคัก
พม่าในไทย - ชาวพม่าที่ไม่ได้กลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในประเทศ นั่งดูทีวีติดตามข่าวและเกาะติดความเคลื่อนไหวการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 25 ปี ที่ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 8 พ.ย. |
ส่วนกรณีที่เกรงว่าหากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี เป็นฝ่ายชนะ อาจมีเหตุการณ์ยิงปะทะกันเกิดขึ้น ทำให้ชาวพม่า กะเหรี่ยง มอญ รวมทั้งชาวไทย อพยพข้ามเข้ามายังฝั่งไทย ซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 นั้น นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่าในส่วนของสาธารณสุขประชุมวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งรถฉุกเฉินและยารักษาโรคไว้แล้ว โดยแผนที่วางไว้เบื้องต้นคือผู้อพยพ ที่เป็นชาวพม่าและกะเหรี่ยงหรือชาวมอญ จะให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านเตาถ่าน หมู่ 9 ส่วนคนไทยให้อยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนบ้านซองกาเรีย สาขาพระเจดีย์สามองค์ หมู่ 9 เพื่อง่ายต่อการคัดกรองบุคคล แต่หากเกิดสถานการณ์บานปลาย มีผู้อพยพเพิ่มจำนวนมากขึ้น เหมือนเหตุการณ์เมื่อปี 2553 จะประชุมวางแผนหาจุดที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงเฝ้าระวังอยู่ในที่ตั้งต่อไป
ตำรวจ-สาธารณสุขพร้อมรับมือ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กองพลทหารราบที่ 9 ค่าย สุรสีห์ โดยเฉพาะหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ที่รับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดน ด้านอำเภอสังขละบุรี ประชุมวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สังขละบุรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสังขละบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลอำเภอสังขละบุรี เจ้าหน้าที่ ตม.กาญจนบุรี และผู้นำท้องถิ่น เพื่อวางแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน หากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นจริงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะบูรณาการช่วยเหลือผู้อพยพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังคงเฝ้าจับตามองสถานการณ์
รับมือผู้อพยพสถานการณ์ไม่สงบ
พ.ต.อ.วีรยศ การุณยธร ผกก.ตม.กาญจนบุรี เปิดเผยว่าเนื่องจากในวันเดียวกันนี้ประเทศพม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเวลา 06.00-16.00 น. ทางการประเทศพม่าประสานมายังจุดผ่อนปรนบ้านพระเจดีย์สามองค์ แจ้งให้ทราบว่าทางการจะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวผ่านแดนได้ ส่วนประชาชนในพื้นที่และรถสินค้าอุปโภค-บริโภคสามารถผ่านแดนได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลา 10.30 น. ประชาชนฝั่งประเทศพม่าต่างทยอยมาเลือกตั้งกันอย่างหนาแน่น โดยมีหน่วยทหารประเทศพม่าขับรถลาดตระเวนเป็นระยะ เหตุการณ์ทั่วไปปกติ ส่วนสถานการณ์ฝั่งประเทศไทยประชาชนยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.จว.) กาญจนบุรี มีแผนการรองรับสถานการณ์ไว้แล้วโดยบูรณาการร่วมกับทหารชุด ฉก.ลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ทหารพรานที่ 1407 สภ. สังขละบุรี, ตชด.ที่ 134, ฝ่ายปกครองอำเภอสังขละบุรี โรงพยาบาลสังขละบุรี และส่วนราชการในพื้นที่ ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยจัดเตรียมสถานที่พักผู้อพยพคนไทยและพม่า หากเกิดความไม่สงบหลังการเลือกตั้ง
ข้ามด่านสิงขรพม่าต่อแถวใช้สิทธิ์
เวลา 06.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อำเภอมูดอง เมืองตะนาวศรี จังหวัดมะริด ฝั่งตรงข้ามจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวพม่าจำนวนมาก ทยอยเดินทางมาเข้าแถวยาวตั้งแต่ริมถนน วกเข้าไปหน้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง โดยภาครัฐจัดหน่วยเลือกตั้งที่โรงเรียน บ้านมูดอง ซึ่งมีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2,500 คน และที่โรงเรียนบ้านสะพานหก มีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2,000 คน มีพรรคการเมืองสมัครรับเลือกตั้งในเขตนี้ 4 พรรค รวมถึงพรรคใหญ่อย่างเช่นพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านของนางออง ซาน ซู จี โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้แทนพรรคนั่งประจำที่ในสถานที่เลือกตั้ง มีกำลังทหารพม่าและหน่วยงานราชการคอยสังเกตการณ์อยู่ ด้านนอก บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
แรงงานสมุทรสาครเฝ้าหน้าจอทีวี
ทางด้านจังหวัดสมุทรสาครซึ่งถือเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีแรงงานจากประเทศพม่าเข้ามาทำงานจำนวนมาก ผู้สื่อข่าว รายงานว่า จากยอดผู้ขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 2 แสนคนนั้น แม้ว่าจะมีแรงงานเดินทางกลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้น้อยมาก แรงงานชาวพม่าในสถานประกอบการต่างเฝ้ารอดูและติดตามความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งในประเทศ พม่ากันอย่างคึกคักเนื่องจากเป็นวันหยุด โดยแรงงานที่อาศัยอยู่ตามหอพักต่างออกมารวมกลุ่มกันและนั่งรอดูช่วงข่าวของช่องฟรีทีวีหรือช่องทีวีดาวเทียม เพื่อดูความเคลื่อนไหว สถานการณ์การจัดการเลือกตั้ง และเฝ้ารอลุ้นผลการนับคะแนน ส่วนการแสดงออกเพื่อขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนพรรค ที่ตนเองชื่นชอบ อย่างเช่นพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จีนั้น ใช้วิธีการสวมเสื้อสีแดงที่มีรูปหัวหน้าพรรคออกมานั่งรอลุ้นและติดตามความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งตลอดทั้งวัน
นายยาว แรงงานชาวพม่าที่ไม่มีสิทธิ์กลับไปเลือกตั้ง เพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จากประเทศต้นทาง ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้กลับไปเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะเฝ้ารอลุ้นผลการเลือกตั้งตลอดทั้งวันจนกว่าจะทราบผลว่าพรรคใดชนะในการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ ตนเองขอเชียร์พรรคเอ็นแอลดีเพราะเชื่อมั่นว่านางออง ซาน ซู จีจะทำให้คนพม่าที่อยู่ในประเทศต่างๆ ได้รับการพิสูจน์สัญชาติให้เป็นชาวพม่าอย่างแท้จริง
เพื่อไทยแถลงการณ์หนุนเลือกตั้ง
วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ต่อการเลือกตั้งทั่วไปในสาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมาในวันที่ 8 พ.ย.ว่า นับเป็นวันสำคัญอันสมควรชื่นชมของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ได้มีโอกาสลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตนเองทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ โดยมีการแข่งขันอย่างเสรี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนชาวเมียนมาดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับแต่การเรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะต้องสะดุดหยุดลงด้วยการรัฐประหารของนายพลเน วิน ประชาชนชาวเมียนมาก็ยังแสวงหาและต้องการมีเสียงร่วมปกครองตนเอง ดังจะเห็นจากการรณรงค์ครั้งใหญ่ในวันที่ 8 ส.ค.2531 และการปฏิวัติสีกรัก (Saffron Revolution) ใน พ.ศ.2550 แม้ว่าคณะรัฐบาลทหารที่ปกครองเมียนมาพยายามโดดเดี่ยวประเทศ ปิดตัวเองออกจากโลกจนถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องประชาชนชาวเมียนมาทุกชนเผ่า แต่การต่อสู้อย่างสันติของประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่องไม่ย่อท้อนำมาสู่การมีสิทธิ์เสียงในระบอบประชาธิปไตยได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นก้าวแรกของประชาธิปไตยที่จะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
แถลงการณ์ระบุอีกว่า พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความยินดีต่อพี่น้องประชาชนชาวสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และขอสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในทางการเมืองอย่างสันติ เพื่อให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการยอมรับ และเป็นคะแนนเสียงเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศชาติอย่างอิสระและเป็นธรรม
พรรคเอ็นแอลดีคะแนนนำโด่ง
ด้านสำนักข่าวอิระวดีของพม่ารายงานความคืบหน้าการนับคะแนนภายหลังการปิดหีบเลือกตั้งเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าเผยว่า จะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ในตอนเช้าวันจันทร์ที่ 9 พ.ย. ทั้งนี้มีรายงานระบุว่า 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์ คนหนึ่งเผยว่าคะแนนของพรรคเอ็นแอลดี มีสัดส่วนที่สูงมากในหลายหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีจำนวนมากรวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ของพรรคที่นครย่างกุ้งและสำนักงานที่เมือง มัณฑะเลย์เพื่อชมถ่ายทอดสดการนับคะแนน อย่างไรก็ตามแม้จะมีการถ่ายทอดสดการนับคะแนนในหลายหน่วยเลือกตั้ง แต่มีรายงานว่าที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในเมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการ การเลือกตั้งห้ามนักข่าวถ่ายรูปขั้นตอนการนับคะแนน