- Details
- Category: CLMV
- Published: Tuesday, 22 September 2015 23:09
- Hits: 18223
ไทยพร้อมเข้า AEC ดันเชียงราย ขึ้นเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 2
บ้านเมือง : กระทรวงการคลัง พร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นโอกาสที่ดีของเศรษฐกิจไทย ตลาดของคน 590 ล้านคน จะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังอีก 9 ประเทศ ช่วยเพิ่มความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธ.ค.58 กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานชั้นนำที่มีบทบาทในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศได้มีการวางนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาด AEC ที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างไม่เสียเปรียบ กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ลงวันที่ 6 ม.ค.2555 สำหรับอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีภายในภูมิภาคอาเซียนตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพื่อดำเนินการยกเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งมีสินค้าจำนวน 9,544 ประเภท ให้มีอัตราอากรเป็น 0% โดยคงเหลือเพียงรายการสินค้าอ่อนไหว 4 รายการ ได้แก่ ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และกาแฟ ซึ่งจะยังคงมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 5
การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ การปรับลดภาษีเงินได้ของประเทศไทย โดยได้ดำเนินการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มศักยภาพในการผลิตโดยรวมของประเทศจาก 30% ของเงินได้สุทธิเป็น 23% ของเงินได้สุทธิ ในปี 2555 และในปี 2556 ได้ปรับลดลงเป็น 20% ของเงินได้สุทธิ ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การคลังได้ดำเนินการปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราสูงสุดจาก 37% ของเงินได้สุทธิ เป็น 35% ของเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อทำให้ระบบภาษีมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป จูงใจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้แกนนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในระยะที่ 2 เพิ่มขึ้น 5 จังหวัดประกอบด้วย จ.เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ซึ่งจะเริ่มการพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปโดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาและเก็บข้อมูล ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.)
สำหรับ ความคืบหน้าในส่วนของแผนพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ตอนนี้มีความก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินผล พบว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมากในเชิงการเกษตร เป็นแหล่งผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และสำคัญของภาคเหนือ ประกอบกับมีพื้นที่อำเภอชายแดนทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.แม่สาย อ.เชียงราย และ เชียงของ ซึ่งกำลังจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีความสามารถในการเชื่อมต่อไปยัง 3 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนตอนใต้)
ในขณะที่พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดอื่นๆนั้น เชื่อมต่อเพียงหนึ่งประเทศ ทำให้เชียงรายเป็นพื้นที่น่าสนใจจะเข้ามาลงทุนในลำดับต้นๆ โดยรัฐบาลยังได้รับสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจชายแดนให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน เปิดตลาดด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและการบริหารศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม โลจิสติกส์ และความมั่นคงตามแนวชายแดน
"แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ย่อมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่เราก็มั่นใจว่าการเตรียมการที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ความร่วมมือในทุกระดับจะทำให้ไทยเรามีความพร้อมในการรองรับ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย และเป็นโอกาสที่ดีของเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อเรากลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน จะทำให้เศรษฐกิจของ'ประชาคมอาเซียน' มีขนาดอันดับ 9 ของโลกมูลค่าตลาดรวมกัน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และแทนที่จะเป็นตลาดของคน 67 ล้านคนเช่นเดิม ก็จะกลายเป็นตลาดของคน 590 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียน สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังอีก 9 ประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น" นายรังสรรค์ กล่าว
ด้านนายศิริชัย คุณาบุตร นายด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า อ.แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ล้วนมีศักยภาพในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ต่างก็มีการพัฒนาและการลงทุนอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากปัจจัยความได้เปรียบของพื้นที่ซึ่งทำให้กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกตามลำดับจึงได้เสนอของบประมาณวงเงิน 100 ล้านบาท เพื่อเร่งปรับปรุงด่านแม่สายรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งด่านแม่สายเป็นด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ ในการส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปขายที่ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว
สำหรับ มูลค่าสินค้าที่ผ่านด่านกรณีสินค้านำเข้าจากพม่าอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกกว่า 1,400 ล้านบาทต่อเดือน เฉลี่ยปีละ 16,000-17,000 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออกที่สำคัญ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สุรา เบียร์ เครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์ รถยนต์และอะไหล่ และเครื่องใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ สินค้านำเข้ามีจำนวนไม่มาก ทำให้การเก็บภาษีนำเข้าได้น้อย โดยการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณ 2558 ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา สามารถเก็บภาษีนำเข้าได้ 25 ล้านบาท แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 6,227 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ นายศิริชัย เปิดเผยต่อว่า ในฐานะกรรมการระดับจังหวัดในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้มีการเลือกที่ดินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ในตำบลโป่งผา จำนวน 900 ไร่ ให้ตั้งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยต้องให้คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจากส่วนกลางมีมติเห็นชอบ เพื่อจะได้ดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำเภอแม่สายจะตั้งให้เป็นศูนย์การค้าขายเนื่องจากมีธนาคารพาณิชย์เกือบครบทุกแห่ง สะดวกในการทำธุรกรรมการเงินในการค้าขายได้อย่างคล่องตัว
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีดังนี้ เศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย เน้นพึ่งพาด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนเกือบ 40% ของ GPP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) รองลงมาเป็นการบริการสาขาค้าปลีก ค้าส่ง ประมาณ 13% ของ GPP ในขณะที่สาขาการศึกษาประมาณ 10% ของ GPP และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการทางการเงิน ประมาณ 8% ของ GPP
เศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายมีการพึ่งพาภาคการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่าภาคเกษตรได้มีบทบาทสำคัญมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพประเทศและสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตและเพาะปลูก โดยสินค้าสำคัญของจังหวัด ได้แก่ ข้าวเจ้าหอมมะลิ ข้าวเหนียว ชา กาแฟ ลิ้นจี่ ลำไย ข้าวโพด อย่างไรก็ดี การที่โครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดมีการพึ่งพาสาขาเกษตรจะทำให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ โรคระบาด และปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ เป็นต้น
ด่านศุลกากรแม่สายมีพรมแดนติดกับประเทศสหภาพเมียนมา แนวเขตแดนยาวรวมประมาณ 120 กม. เป็นเขตแดนทางบก ประมาณ 95 กม. และเป็นเขตแดนที่เป็นลำน้ำ แม่น้ำสายประมาณ 25 กม. รับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย ยกเว้นเขตความรับผิดชอบ ด่านศุลกากรเชียงแสน และด่านศุลกากรเชียงของ
ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีเขตการค้าชายแดนสามจุด คือ 1.ด่านแม่สาย ตั้งอยู่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย เชื่อมต่อกับด่านพรมแดนท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน เมียนมา 2.ด่านเชียงแสน ฝั่งตรงข้ามคือด่านเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจาก อ.เมือง เชียงรายประมาณ 60 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชม. และ 3.ด่านเชียงของ ด่านนี้มีเขตติดต่อกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วและแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว และสามารถเชื่อมต่อการค้าไปถึงประเทศจีนตอนใต้
ส่วนจุดผ่อนปรนการค้าบริเวณชายแดนแม่สายมีทั้งหมด 4 จุด ได้แก่ 1.จุดผ่อนปรนท่าบ้านสายลมจอย 2.จุดผ่อนปรนท่าบ้านเกาะทราย 3.จุดผ่อนปรนท่าบ้านปางห้า และ 4.จุดผ่อนปรนท่าดินดำ
ด่านทั้ง 3 แห่งของจังหวัดเชียงรายถือเป็นด่านพรมแดนที่มีศักยภาพรองรับการขนส่งสินค้าตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2556-2560) นอกจากนี้ด่านทั้ง 3 แห่ง ยังถูกจัดให้เป็นประตูการค้าชายแดนที่มีมูลค่าการค้าสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง