- Details
- Category: CLMV
- Published: Wednesday, 24 December 2014 23:28
- Hits: 5676
นายกฯพอใจผลประชุมร่วมมือทางศก.GMS ต่างเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงปิดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ว่า มีความพอใจและถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้นำทุกประเทศให้ความสำคัญมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้มีความใกล้ชิด เป็นมิตรและไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น โดยทุกประเทศเห็นตรงกันที่จะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายและบริหารงาน มีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนสนับสนุนช่วยขับเคลื่อน ในลักษณะของของรัฐ เอกชน และประชาชนที่ต้องเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน แบ่งปันความสุขอย่างเป็นธรรม ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ จะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน
"ที่ประชุมยังเห็นควรว่า GMS จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของอนุภูมิภาคเป็นหลัก ทุกประเทศต้องมองความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไม่ใช่มองแต่ละประเทศเป็นคู่แข่งขัน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ก้าวไปข้าวหน้าทั้งการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งระเบียงเศรษฐกิจ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ลดความขัดแย้ง และแก้ไขกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจสร้างความกินดีอยู่ดี ขณะเดียวกันทุกประเทศจะต้องมาช่วยวางแผนหาแนวทางร่วมกันในการใช้น้ำจากแม่น้ำโขงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยไม่สร้างปัญหาให้เกิดความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากรน้ำ"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จีนมีความพอใจที่ได้มาลงนามความตกลงเรื่องการก่อสร้างรถไฟขนาดมาตรฐานที่ไทย และยังชื่นชมไทยที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง การลงนามดังกล่าวยังเป็นจุดเริ่มต้นของการวางโครงสร้างด้านการขนส่งทางรางที่จะเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ด้วย นอกจากนี้จีนยังตกลงรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยเรื่องของการระบายสินค้นของไทย แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นการนำสินค้าการเกษตรไปแลกกับรถไฟ เพราะมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ทั้งนี้ การประชุมที่เกิดขึ้นได้ในครั้งนี้ เพราะบ้านเมืองมีเสถียรภาพ สงบ สันติ
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิทธิ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม GMS เห็นชอบแผนระยะเร่งด่วน 5 ปี มูลค่าการลงทุน 3 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเดิมในระยะ 10 ปี 5.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการลงทุนโดยจีนร้อยละ 44 สปป.ลาวร้อยละ 26 ส่วนไทยร้อยละ 10 ซึ่งเป็นความเห็นชอบเร่งรัดโครงการเท่านั้น ไม่ใช่การอนุมัติวงเงิน เพราะแหล่งเงินมาจากหลายที่ เช่น เงินกู้ผ่อนปรนสถาบันเนดาร์ กองทุนให้กู้จากจีน และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) สำหรับการประชุม GMS ครั้งต่อไป มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2560 ที่ประเทศเวียดนาม
อินโฟเควสท์