- Details
- Category: ASAIN
- Published: Wednesday, 24 June 2015 15:23
- Hits: 9439
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด วิจัยพบว่า อาเซียนถูกหมายตาเป็นชัยภูมิใหม่ ในอุตสาหกรรมการผลิตแห่งเอเชีย แทนที่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกในจีน
อาเซียน พร้อมผงาดขึ้นเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำแห่งใหม่ในเอเชีย แทนที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกในจีนซึ่งค่าแรงเริ่มสูงขึ้น
ข้อได้เปรียบของอาเซียนคือ ค่าแรงต่ำกว่าและปริมาณแรงงานเหลือเฟือและเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคั่งขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า
ผู้ผลิตในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกจับตาเวียดนามและกัมพูชาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพื่อย้ายฐานการผลิต
อาเซียนถูกหมายตาเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำแห่งใหม่ในเอเชีย แทนที่เขตอุตสาหกรรมในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) ของจีนซึ่งค่าแรงเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จีนเริ่มสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันด้านค่าแรง อาเซียนมีโอกาสผงาดขึ้นมาแทนที่ด้วยต้นแทนค่าแรงที่ต่ำกว่าและปริมาณแรงงานที่เหลือเฟือและเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคั่งขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคั่งขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสริมโน้มน้าวให้บริษัทที่มีฐานการผลิตในจีนตัดสินใจย้ายฐานไปยังภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ
ผลการสำรวจล่าสุดของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพบว่า ผู้ผลิตในจีนที่มีฐานการผลิตใน 9 เมืองของมณฑลกวางตุ้งและมีปริมาณส่งออก 29% ของประเทศ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในระดับมหภาค เรื่องนี้ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับจีน ค่าแรงที่สูงขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงผลิตภาพที่พัฒนาขึ้นและสินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นการยืนยันถึงการเปลี่ยนผ่านของจีนไปสู่การผลิตสินค้าระดับที่สูงขึ้นและรูปแบบการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้น แต่ในระดับองค์กร การขาดแคลนแรงงานเป็นภาระด้านต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิตในจีน” นายเคลวิน หลิว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกล่าว
จากการสำรวจความเห็นของผู้ผลิตจากฮ่องกงและไต้หวันกว่า 290 คนที่มีฐานการผลิตในจีน กว่า 85% ระบุว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานรุนแรงไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา ค่าแรงสำหรับแรงงานอพยพในปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ย8.4% เมื่อเทียบกับ 8.1% ในปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับค่าแรงโดยรวมที่แท้จริงจะสูงขึ้น 6.8%
“กว่า 30% ของบริษัทต่างๆ ที่เราสอบถามความเห็นตอบว่า พวกเขามีแผนจะย้ายโรงงานไปยังทำเลใหม่ บางรายบอกว่าจะย้ายลึกเข้าไปพื้นที่ด้านในของประเทศจีน และบางรายมีแผนย้ายไปต่างประเทศ โดยระบุเวียดนามและกัมพูชาเป็นตัวเลือกชัยภูมิใหม่ที่น่าสนใจ” นายเคลวิน กล่าว
ขณะที่ภาคการผลิตของจีนกำลังเปลี่ยนผ่าน ภาคการผลิตในอาเซียนเองก็มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าค่าแรงในบางพื้นที่ของจีน โดยเฉพาะพื้นที่แถบตะวันตกของประเทศ จะยังคงความสามารถในการแข่งขัน แต่ปริมาณแรงงานที่หดตัวจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ค่าแรงขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบเท่ากับพื้นที่แถบตะวันออกของจีน
เวียดนาม ซึ่งอยู่ในทำเลที่ใกล้กับประเทศจีน มีโอกาสจะได้อานิสงส์มากที่สุดจากที่การผลิตต้นทุนต่ำโยกย้ายออกจากจีน บริษัทที่ให้ความเห็นในการสำรวจนี้ประเมินว่า การย้ายฐานมายังเวียดนามจะช่วยลดต้นทุนลงได้เฉลี่ย 19%ส่วนการย้ายฐานไปกัมพูชา จะช่วยประหยัดต้นทุนค่าแรงได้ถึง 20%
ภาพรวมของภูมิภาคอาเซียน จะเห็นได้ว่ามีศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานต้นทุนต่ำกว่าในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและอินโดนีเซีย ภาคการผลิตที่หลากหลายหลายด้าน รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ไปจนถึงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มระดับสูงในสิงคโปร์
“อาเซียนอาจมองประสบการณ์ของจีนเป็นตัวอย่างได้ดี ในการให้ความสำคัญกับการค้าต่างประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโต ส่วนผลตอบแทนที่จะได้ก็สูงมากเช่นกัน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มโยกย้ายออกจากจีนไปยังอาเซียน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับภูมิภาคนี้ที่จะไล่ทันจีน และกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก”นายเคลวินกล่าวสรุป