- Details
- Category: ASAIN
- Published: Saturday, 16 November 2019 19:52
- Hits: 1922
ซีอีโอเครือซีพี แสดงวิสัยทัศน์เวที AEC Business Forum 2019 เสนอความท้าทายที่ไทยและอาเซียนต้องเผชิญ
ซีอีโอเครือซีพี แสดงวิสัยทัศน์เวที AEC Business Forum 2019 เสนอความท้าทายที่ไทยและอาเซียนต้องเผชิญ ชูธงภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญ
ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 'AEC Business Forum 2019'ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขึ้นเวทีร่วมเสวนาหัวข้อ “ASEAN CEO’s Vision 2020 & Beyond” ร่วมกับนักธุรกิจชั้นนำ ประกอบด้วย คุณอาลก โลเฮีย (Mr. Aloke Lohia) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน)คุณเจมส์ อู๋ (Mr. James Wu) ประธานบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และคุณพอล ลิม (Mr. Paul Lim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท PESTECH International Berhad โดยมี ซีอีโอ นักธุรกิจ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ CP E-News ได้รวบรวมสาระสำคัญจากเวทีเสวนาครั้งนี้มาเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกัน
@ความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียน
ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย และอาเซียน ว่า สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกขณะนี้ได้คือ คือ “ความเชื่อมโยง” “ความรวดเร็ว” และ “ตลาดโลก” ทั้งสามอย่างจะต้องบรรจบกัน ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เรื่องนี้ ถ้าดูระดับการเติบโตการใช้มือถือ การเติบโตของเมือง การใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งหมดมีการเติบโตสูงมาก จะเห็นว่าโลกของเรามีความเชื่อมโยงมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต จึงจำเป็นต้องสร้างเมืองอัจฉริยะ และมีความโปร่งใสของข้อมูลต่างๆผ่านการเชื่อมโยงทางดิจิทัลเท่านั้น ขณะที่ในระดับอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม บางอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีมาใช้ ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่รอดไม่ได้ แต่ทั้งหมดต้องเปลี่ยนตัวเอง มิเช่นนั้นก็จะถูกดิสรัป
“ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและเราติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และบางประเทศมีรายได้ต่ำ การเชื่อมโยงทางด้านดิจิทัลนั้นจะทำให้เรามีความโปร่งใสมากขึ้นในทันที เราสามารถลดขั้นตอนระบบราชการ มีการปฏิรูปประเทศ และทำสิ่งต่างๆที่ถ้าเราลงทุนจริงๆเราจะสามารถไปได้ไกลกว่านี้ ทั้งในการกระจายความรู้และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่อง บิ๊กดาต้า เอไอ ถ่ายทอดความรู้และสร้างคุณค่าและประสิทธิภาพมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจและอาเซียน เรามีช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่มากในการวิวัฒนาการของเศรษฐกิจ เรามีโอกาสนี้อยู่”คุณศุภชัยกล่าว
ในมุมมองของประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี มองถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกำลังทำให้เศรษฐกิจก้าวไปสู่สิ่งที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล มีความโปร่งใสมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสของอาเซียนที่จะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้การเชื่อมโยงพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคมีมากขึ้น ทำให้เกิดโอกาสมหาศาลและความท้าทาย ที่ไทยและประเทศในอาเซียนต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเราขณะที่ความเชื่อมโยงทางดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเราเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเร็วพอ โอบรับเอาสิ่งที่เข้ามาเพียงพอก็จะทำให้ประเทศในอาเซียนเติบโตก้าวกระโดดได้
@ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญ
คุณศุภชัย ได้หยิบยกแนวคิด 'ความยั่งยืน'เสนอบนเวทีเสวนาครั้งนี้ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ต้องควบคู่กับเรื่องความยั่งยืนนั้น ขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะภาคธุรกิจมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างขยะต่างๆ ปล่อยคาร์บอนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น
“ผมคิดว่าโลกที่เราเรียกว่าบ้าน จะสามารถรับมือกับสิ่งที่เราทุกคนได้สร้างขึ้นมาได้ เราอาจจะต้องพบกับผลลัพธ์ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน วันนี้ขยะในท้องทะเลเยอะมากเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดสารพิษต่างๆ เราพูดถึงคาร์บอน ฟุตพรินท์ การทำให้โลกร้อน ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเวลาเรามองไปข้างหน้าถึงการพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจของเราโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาสำคัญที่ท้าทายเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรใหญ่ๆต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ และพยายามทุกทางที่จะปรับตัว”คุณศุภชัยกล่าว
@ผลผลิตภาคเกษตรกรลดลง และสังคมสูงวัย ภาวะที่ไทยต้องเผชิญ
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวว่า เกษตรกรเป็นภาคใหญ่มากในประเทศไทย แต่ขณะนี้เราไม่สามารถปรับเอาดิจิทัลมาใช้กับภาคเกษตรได้ ทั้งที่เรามีเทคโนโลยีใหม่มากที่จะมาใช้ด้านเกษตรกรรมได้ จึงจำเป็นที่เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ ขณะเดียวกันเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 50-60 ปี และยังคงทำการเกษตรในแบบเดิม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนำเรื่องเทคโนโลยีมาใช้ในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยไม่ว่าจะเป็นการนำออโตเมชั่น และเอไอมาใช้ก็ถือเป็นความท้าทายในอนาคต
@โอกาสและความท้าทายในภาคธุรกิจของเครือซีพี
ซีอีโอเครือซีพี ได้ยกตัวอย่างและพูดคุยถึงรายละเอียดถึงวิสัยทัศน์สำคัญที่เพิ่มเข้ามาในการเติบโตของเครือซีพี คือ Social , Economic และ Enveronment ซึ่งเป็นสิ่งที่จะสร้างคุณค่าให้กับบริษัท สังคม และโลก
“ผมขอยกตัวอย่างการพยายามเปลี่ยนแปลงของเครือซีพี ซึ่งเราทำงานมีไซโลมากมาย ทำงานโดดเดี่ยวเป็นไซโล เราจะเปลี่ยนไปสู่บริษัทที่ทำงานร่วมกัน โดยผ่านการขับเคลื่อนโดยข้อมูล มีความโปร่งใส และจะส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายมีประสิทธิภาพได้อย่างไร การจะมีซีอีโอเพียงคนเดียวแก้ปัญหาทุกอย่าง ในที่สุดซีอีโอนั้นก็จะเป็นคอขวดเองดังนั้น บริษัทจะเปลี่ยนแปลงเติบโตเพิ่มสมรรถภาพอย่างไร จึงต้องให้มี มินิซีอีโอ มากมาย ที่มีความรับผิดชอบในหลายระดับ สามารถทำงานในลักษณะข้ามภาค สาขา แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเราต้องการเปลี่ยนบริษัทเข้าสู่รูปแบดิจิทัล และให้คล่องแคล่วเพียงพอที่จะให้มีนวัตกรรมนำบริษัทไปสู่การแข่งขันเพิ่มมูลค่าให้ตลาด ผมคิดว่าเป็นทั้งความท้าทาย และโอกาสของเครือซีพี ดังนั้นถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง วิสัยทัศน์ เป้าหมาย เคพีไอต้องเปลี่ยน”คุณศุภชัยกล่าว และว่า อย่างไรก็ตามแม้บริษัทจะเติบโตแต่ต้องไม่ลืมว่า เราต้องทำงานควบคู่กันกับความยั่งยืนด้วย
“ถ้าเรามีความสามารถมากขึ้นแค่ไหนในการสร้างสิ่งต่างๆ เราก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการสร้างควาเปลี่ยนแปลงที่อย่างยั่งยืน และทั่วถึง เพราะในที่สุดเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภาคเอกชนจึงไม่ควรทำงานโดดเดี่ยวแบบไซโล จะต้องมีการคำนึงถึงวาระที่สำคัญร่วมกัน แม้ด้านหนึ่งเราแข่งขันกัน แต่ด้านหนึ่งเราก็มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ”คุณศุภชัยกล่าว
สำหรับ เวทีเสวนาหัวข้อ'ASEAN CEO’s Vision 2020 & Beyond' นั้น ซีอีโอจากภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ได้ร่วมแสดงความเห็นถึงธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญสู่ยุคดิจิทัลว่าได้มีการลงมือเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลเชื่อมโยงธุรกิจไปอย่างไรบ้าง และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องมองถึงความเชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาคอาเซียนกันแบบไร้รอยต่อ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันในอาเซียน อาทิ รถไฟความเร็วสูง โดยภาคธุรกิจจะต้องเร่งเปิดรับและนำเทคโนโลยีมาใช้ โดย ประธานบริหาร หัวเว่ย ภูมิภาคอาเซียน
สะท้อนว่า ธุรกิจและบริษัทถ้าไม่สามารถปรับตัวให้เข้าสู่ยุคธุรกิจดิจิทัลได้ แน่นอนว่าจะมีการล้มหายตายจากไป ดังนั้นทั้งเรื่อง 5G คลาวด์เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ธุรกิจต้องเปิดรับ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการแข่งขัน และเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่เราคิด อาเซียนต้องเตรียมตัวพร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนำเทคโนโลยีมาสร้างอนาคต ขณะเดียวกัน หัวเว่ยมีแนวคิดจะตั้งวิทยาลัยไอซีทีในประเทศไทยเพื่อสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีความสามารถมาทำงานในภูมิภาคอาเซียน โดยหัวเว่ยพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเขา ทั้งยังช่วยในการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพ
@ปัจจัยความสำเร็จและความเสี่ยงของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
ทั้งนี้ ในงาน AEC Business Forum 2019 ยังได้รับเกียรติจาก ดร.ซ่ง เฉิง จือ (Dr. Sung Cheng Chih) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Avanda Investment Management ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของกระทรวงการคลังสิงคโปร์และธนาคารกลางในสิงคโปร์ นอร์เวย์และประเทศไทย และสมาชิกคณะกรรมการบริหาร MIT Endowment ขึ้นกล่าวปาฐกถานำ โดย ดร.ซ่ง เฉิง จือ ได้สะท้อนปัจจัยสำคัญความรุ่งเรืองของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งภูมิศาสตร์การถ่วงดุลทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การเกิดขึ้นของหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค “อาร์เซ็ป” ซึ่งเป็นไปได้ว่าอินเดียจะไม่เข้าร่วมในอาร์เซ็ป
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่า ตลาดผู้บริโภคภายในภูมิภาคอาเซียนจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้จะยังไม่เท่าสหภาพยุโรป แต่อาเซียนถือเป็นฐานตลาดส่งออกของจีน และเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอาเซียนยังต้องเตรียมรับมือกับความท้าทาย ทั้งจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว และการต้องขยับเป็นประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวระดับสูงให้ได้ และต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากนวัตกรรมทางการเงินที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอย่างฉับพลัน โดยหวังว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับการสนับสนุนการเงินง่ายขึ้น ทำให้ธุรกิจไปสู่ภูมิทัศน์การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซมากขึ้นได้
ขณะเดียวกัน เชื่อว่าในอนาคตภูมิภาคอาเซียนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสของการหันกลับมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีมาตรการและกองทุนต่างๆเพื่อรับมือกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในอนาคตของอาเซียน
ดร.ซ่ง เฉิง จือ ระบุว่า เมื่อพิจารณาจีดีพีของทั้งอาเซียนเติบโตสูงในแง่การบริโภคต่อหัว โดยตลาดของภูมิภาคอาเซียนมีขนาดใหญ่กว่าญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังไม่เท่าสหภาพยุโรป โดยในอนาคตหากมีข้อสรุปในเรื่องผลประชุมอาร์เซ็ปต์ เชื่อว่าจำนวนการบริโภคภายในภูมิภาคจะเติบโตในอนาคตและหวังว่าจะเท่าสหภาพยุโรปได้ ขณะที่ในเรื่องเทคโนโลยี แม้ในภูมิภาคนี้เราจะไม่ใช่ผู้นำ แต่สิ่งที่เราต้องรู้คือนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตได้อย่างไร
“อาเซียนมีมนุษยสัมพันธ์ดี ถ่วงดุลได้ทั้งอเมริกา และจีน ทำให้เป็นโอกาสดีที่จะนำเอาเทคโนโลยี และอีคอมเมิร์ซมาช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไร และเศรษฐกิจจะก้าวหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ โดยยังต้องมีปัจจัย อาทิ การผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ จัดหาแรงงานที่มีศักยภาพ การมีความง่ายในการดำเนินธุรกิจในอาเซียน ซึ่งสถิติตัวเลขส่วนนี้ค่อนข้างดี ในด้านระบบการเงิน เรามีระบบธนาคารที่เข้มแข็ง และอาเซียนได้บทเรียนมาจากช่วงวิกฤตการเงินในภูมิภาคนี้เมื่อหลายปีก่อน”
“อนาคตระยะกลางต้องพิจารณาว่าเราจะต้องขยับจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงขึ้นได้อย่างไร ประเทศไทยอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ อาจมีสิ่งที่ทำได้ง่ายๆและได้ประโยชน์ คือ ตอนนี้ไทยเริ่มจะประสบปัญหาผู้สูงวัย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เริ่มคิดว่าทำอย่างไร ผลักดันให้เราเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว มีรายได้ต่อหัวระดับสูงได้ อาจเป็นเป้าหมายระยะไกล แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาและความสามารถในการปรับตัว ก็ควรต้องมองถึงส่วนนี้”ดร.ซ่ง เฉิง จือ กล่าวและให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การพูดถึงการเจริญเติบโตกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะเป็นเรื่องคู่ขนานกัน เพราะผู้คนกำลังสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศนี้อาเซียนอาจจะยังไม่พบชัดเจน แต่จะเป็นปัญหาของอาเซียนในอนาคต
โดย CP E-News15 พฤศจิกายน 2562
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน